จ่อใช้ ม.25 ลุยม่อนแจ่ม บิ๊กป่าไม้ปรามฝืนกติกา ต้องเข้มงวดกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการที่ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ ได้เผยแพร่ข้อความผ่านเพจ : คุยกับอธิบดีกรมป่าไม้ว่า “เที่ยวแบบไม่ต้องพักก็ได้ครับ ถ้าจะทำให้เกิดความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมในอนาคต สุดท้ายจะจบด้วยความเสื่อมโทรม ถ้าไม่เคารพกติกาที่ตกลง คงต้องเข้มงวดด้วยกฎหมายนะครับ ม่อนแจ่ม” พร้อมเผยแพร่ภาพที่ถ่ายบริเวณชุมชนม่อนแจ่ม ขณะนั่งเฮลิคอปเตอร์ พร้อมเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ตรวจสภาพบริเวณโดยรอบ
และพบว่า หลังการแบ่งปันข้อมูลดังกล่าว มีการแสดงความคิดเห็นค่อนข้างหลากหลาย ผ่านสื่อสังคม ในแวดวงกลุ่มกิจการรีสอร์ทที่พัก และเพจส่วนตัวของอธิบดีกรมป่าไม้ อาทิ คนใช้ธรรมชาติที่งดงาม เป็นต้น ทุนในการหารายได้จากการท่องเที่ยว คนไม่เคยคิดที่จะปกปักษ์รักษาธรรมชาตินั้นไว้เป็นต้นทุนคน กอบโกยคุกคามธรรมชาติ สุดท้ายเสื่อมโทรมสิ้นค่า แถวนั้นถางป่าเพิ่มขึ้นเยอะจริง ๆ ครับ ที่ดินแปลงข้าง ๆ ก็ขยับรั้วเข้าป่าไปเรื่อย ๆ ได้แต่มองตาปริบ ๆ ไม่กล้าพูดอะไร เพราะเพิ่งไปอยู่ใหม่ แถวอ่างเก็บน้ำหมู่บ้านป้อก ต.สะเมิงเหนือ เห็นด้วย ถ้าไม่เคารพธรรมชาติ อย่างน้อยก็น่าจะเคารพกฎหมายกฎระเบียบ, ช่วยกันครับ!! ไม่ชอบก็อย่าไปอุดหนุน ไม่อุดหนุน รีสอร์ท ก็ไม่เกิดครับ เป็นต้น
ทั้งนี้มีหลายราย แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า “ด้วยความเคารพ เห็นบ่นจัง เค้าเข้าไปปลูกสร้าง จนท. ไม่รู้ไม่เห็น งง “หรือแม้แต่” อย่าว่าแต่ม่อนแจ่ม เขาค้อจัดการได้ยัง” และ “แล้วปล่อยให้มีการบุกรุกได้งัยนะภูเขาทั้งนั้น” ในขณะที่ นายบุญชู เขื่อนสุวงศ์ ระบุว่า ถ้าถามผม ผมคงโทษกรมป่าไม้ครับ ปล่อยเกินไป และที่จะเป็นสภาพแบบนี้อีกที่ ถนนสายสะเมิงไป อ.กัลยาณิวัฒนา เริ่มบุกรุกเยอะมาก
สำหรับพื้นที่ม่อนแจ่ม อ.แม่ริม เชียงใหม่นั้น หน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบ ระบุว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 มีโครงการจัดการทรัพยากรที่ดิน และป่าไม้ในเขตป่าสงวนฯ ป่าแม่ริมให้ชาวเขาเผ่าม้งเข้ามาอยู่อาศัยและทำกิน ภายใต้การส่งเสริมอาชีพของมูลนิธิโครงการหลวง กว่า 900 แปลง พื้นที่กว่า 3 พันไร่ เป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย อ.แม่ริม ที่มีพื้นที่กว่า 11,000 ไร่ ( ปัจจุบันคือโครงการ คทช. ที่กระทรวงทรัพยากรฯ ดำเนินการเช่น ชุมชนแม่ทา อ.แม่ออน )
ที่ผ่าน ๆ มา นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ ได้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบการถือครองที่ดิน สำรวจแปลงที่ดิน ที่มีการก่อสร้างอาคารที่พัก รีสอร์ท บันทึกข้อมูล และรายละเอียด ค่าพิกัดดาวเทียมเพื่อเปรียบเทียบ ฐานข้อมูลการถือครองพื้นที่มีอยู่ และเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปตามระเบียบข้อกฎหมาย และนโยบายการจัดที่ดินทำกิน หรือ คทช. มีการแบ่งกลุ่มประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่เป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มผู้ที่อาศัยในพื้นที่ป่า และเข้าร่วมโครงการกับศูนย์พัฒนา โครงการหลวงหนองหอย
ซึ่งสำรวจตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ประมาณ 200 ราย เนื้อที่รวม 112 ไร่, กลุ่มก่อนมติ ครม. 30 มิ.ย. 2541 อนุญาตอยู่อาศัยทำกินตามหลักเกณฑ์, กลุ่มช่วงหลังมติ ครม. 30 มิ.ย. 2541 และก่อน 17 มิ.ย. 2557 (คำสั่ง คสช.66/2557) ให้อนุญาตอยู่อาศัยทำกินให้ผู้ยากไร้ แต่ในส่วนนายทุนต้องดำเนินคดีทั้งหมด กลุ่มสุดท้ายคือ ผู้อยู่อาศัยทำกินหลัง 17 มิ.ย. 2557 (คำสั่ง คสช.66/2557) ต้องดำเนินคดีกับทุกกลุ่ม
อย่างไรก็ตาม แม้ชุมชนม่อนแจ่ม ตลอดจนผู็นำชุมชน จะพยายามท้วงติง ไม่ให้นำมาตรการแบบอ่างขางโมเดลมาใช้ เพื่อจัดระเบียบ แต่เนื่องจากสภาพการเติบโตของการท่องเที่ยวในย่านม่อนแจ่ม ส่งผลให้มีการใช้พื้นที่ผิดวัตถุประสงค์ เช่น มีการสร้างรีสอร์ท ที่พัก ด้วยข้ออ้างเหตุผลต่าง ๆ ซึ่งเกินศักยภาพชาวบ้านจะลงทุนขนาดนั้น ประกอบกับปัญหาด้านภาพพจน์ป่าไม้ ที่ควรบังคับใช้กฎหมาย ส่งผลให้คณะทำงานระดับนโยบาย เน้นย้ำให้ป่าไม้เร่งแก้ไข จัดระเบียบม่อนแจ่ม ซึ่งคาดว่า บางพื้นที่จำเป็นต้องใช้มาตรการเช่นเดียวกันกับ บริเวณพื้นที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อ.ฝาง ที่ดำเนินการตรวจสอบพื้นที่รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ตาม (มาตรา 25) จำนวน 24 แห่ง
โดยมาตรา 25 ( ม.25 ) พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 นั้นให้อำนาจเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตรวจ ยึด รื้อ แก้ไข หรือการทำการอื่นใดแก่สิ่งที่เป็นอันตราย หรือสิ่งที่ทำให้เสื่อมสภาพภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ กรณีทำลายป่า มีสิทธิถูกจับ ปรับด้วย
( ภาพประกอบจาก : ป่าไม้ )

ร่วมแสดงความคิดเห็น