(มีคลิป) ลงพื้นที่วันนี้! ตรวจดอยม่อนแจ่ม พบรีสอร์ทบุกรุก สั่งรื้อถอน ไม่เกิน 60 วัน

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 6 มกราคม 2563 โดยในวันนี้ (6 มกราคม 2563) ที่บริเวณห้องประชุมอาคารผลิตผลศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ นายธเนศพล ธนบุณยวัฒน์ เลขานุการ รมว.ทส. พร้อมด้วยอธิบดีกรมป่าไม้ เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) องค์กรฝ่ายปกครองท้องถิ่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมป่าไม้ ลงพื้นที่เพื่อตรวจติดตามการแก้ไขปัญหาบุกรุกพื้นที่ดอยม่อนแจ่มอีกครั้ง พร้อมทั้งร่วมประชุมหารือและสรุปสถานการณ์ การดำเนินการแก้ไขปัญหาและการบังคับใช้กฎหมาย โดยเร่งดำเนินคดีกับผู้ประกอบการรายใหม่ รวมถึงการทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่

ทั้งนี้จากกรณี การลงพื้นที่ตรวจสอบดอยม่อนแจ่มสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความนิยม ซึ่งพบว่ามีการบุกรุกพื้นที่สร้างรีสอร์ทและบ้านพัก เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่มีเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา นายธเนศพล ธนบุณยวัฒน์ เลขานุการ รมว.ทส. พร้อมด้วย นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ ได้รับมอบหมายจาก นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ติดตามการแก้ไขปัญหาพื้นที่ดอยม่อนแจ่มได้ลงพื้นที่ตรวจสอบโดยขึ้นเฮลิคอปเตอร์บิน ตรวจสภาพพื้นที่บริเวณดอยม่อนแจ่ม ซึ่งตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ริม อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มีเนื้อที่รวม 13,500 ไร่

โดยทาง นางนันทนา บุณยานันต์ โฆษกกรมป่าไม้ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพื้นที่กรณีบ้านพัก รีสอร์ท ในพื้นที่ดอยม่อนแจ่ม มีจำนวน 53 ราย ซึ่งพบว่าจำนวน 38 ราย เป็นผู้มีสิทธิอยู่อาศัยทำกิน และอีกจำนวน 12 ราย เป็นผู้มีสิทธิ์อยู่อาศัยทำกิน แต่ทำเกินพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต และมีจำนวน 3 ราย ซึ่งเป็นผู้ไม่มีสิทธิอยู่อาศัยทำกิน คือ ม่อนแสนศิริจันทรา, บ้านท่าจันทร์ และม่อนดอยลอยฟ้า จึงได้แจ้งความดำเนินคดีนอกจากนี้จากการตรวจสอบพบว่าได้มีการก่อสร้างลานกลางเต้นท์ เพื่อเป็นที่พักนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นใหม่จำนวน 8 แห่ง ทั้งนี้อธิบดีกรมป่าไม้ยังได้สั่งการให้ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) แก้ไขปัญหาในพื้นที่โดยด่วน และได้ให้หน่วยเฉพาะกิจปราบปรามพิเศษ (พยัคฆ์ไพร) ลงพื้นที่เพื่อเข้าตรวจสอบดำเนินการจัดระเบียบในพื้นที่ดอยม่อนแจ่ม พร้อมตั้งกองอำนวยการเฉพาะกิจม่อนแจ่ม ประกอบด้วย ศปป.4.กอ.รมน. และพยัคฆ์ไพร เพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ดังกล่าว

นอกจากนี้อธิบดีกรมป่าไม้ยังได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดให้มีการติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์และชี้แจงทำความเข้าใจไม่ให้มีการบุกรุกก่อสร้างอาคารบ้านพัก รีสอร์ท เพิ่มเติมในพื้นที่ดอยม่อนแจ่มและพื้นที่ใกล้เคียงตำบลโป่งแย่งและตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีการสั่งให้รื้อถอนภายใน 45 วัน ไม่เกิน 60 วัน และจะดำเนินการจัดระเบียบพื้นที่ดอยม่อนแจ่มให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน

อย่างไรก็ตามภายหลังการประชุมและลงพื้นที่ตรวจสอบเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น ทางด้าน นายธเนศพล ธนบุณยวัฒน์ เลขานุการ รมว.ทส. เปิดเผยว่า จากการบงพื้นที่ตรวจสอบเบื้องต้น สิ่งที่พบเห็นนั่นเป็นการรุกล้ำพื้นที่ และเป็นทัศนอุจาด และไม่ได้มีความสวยงามแต่อย่างใด อีกทั้งการดำเนินการทั้งหมดก็ไม่ได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการหลวง และไม่ใช่วัตถุประสงค์ของกรมป่าไม้ด้วย โดยขณะนี้สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การดำเนินการที่ในวันนี้ก็ไม่ใช่ว่าช้าหรือเร็วไป เพียงแต่หากไม่ดำเนินการเลย ภายหลังจากนี้ไปก็จะเกิดปัญหามากยิ่งขึ้น โดยตนเชื่อว่าภายในอีก 1-2 ปีข้างหน้าหากไม่ดำเนินการนั้นพื้นที่นี้ก็จะเต็มไปด้วยรีสอร์ท ที่มีการลุกล้ำเต็มไปหมด ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามที่ได้ชี้แจงมาก่อนหน้านี้

ขณะเดียวกันสิ่งสำคัญในขณะนี้จะมีการใช้ทั้งนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ในการดำเนินการ และในส่วนของพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนมือ และเป็นของนายทุนต่างชาตินั้น จะมีการดำเนินการอย่างจริงจังและมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด แม้จะอ้างว่าเป็นพื้นที่ที่มีโฉนด แต่จากการตรวจสอบก็เป็นพื้นที่ ที่มีโฉนดเพียงส่วนเดียว แต่พื้นที่ที่ใช้มนการทำรีสอร์ทนั้นมีมากกว่า 20 ไร่ ในขณะที่มีโฉนดและเอกสารสิทธิจริง ๆ เพียง 3-4 ไร่เท่านั้น และในส่วนที่เกินมานั้นก็จะถือว่าบุกรุกและมีการเปลี่ยนมือ ซึ่งตรวจุดนี้ถือว่าเป็นความผิดอย่างแน่นอน ดังนั้นทางกรมป่าไม้ก็จะมีการดำเนินการอย่างจริงจังแน่นอน

เลขานุการ รมว.ทส. กล่าวอีกว่า ในส่วนของ 38 รายที่เหลือ ก็จะมีการตรวจสอบอย่างละเอียดต่อเนื่องว่ามีการเปลี่ยนมือหรือไม่ รวมไปถึงการมีนอมินีถือครองหรือไม่ และยืนยันว่าการดำเนินการนั้นไม่ได้เป็นการรังแกชาวบ้านแต่อย่างใด แต่เป็นการทำให้เกิดความถูกต้องตรงกับวัตถุประสงค์ของโครงการหลวง ตรงกับเจตนารมณ์และข้อกฎหมายของกรมป่าไม้ และยิ่งปล่อยให้เกิดมีรีสอร์ทที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย พื้นที่เองก็ไม่ได้รับประโยชน์แต่อย่างใด ยกเว้นแต่มาขายแรงงานหรือทำอย่างอื่น ซึ่งก็ไม่ได้เกิดผลดีต่อภาพรวม และการดำเนินการในครั้งนี้ก็จะทำให้พื้นที่แห่งนี้เป็นโมเดลในการจัดระเบียบ และคืนความสมดุลกลับคืนมาเหมือนเดิม รวมไปถึงให้ความเป็นธรรมกับกลุ่มเกษตรกรที่ประกอบอาชีพเดิมภายใต้โครงการหลวง เพื่อให้เห็นว่าในส่วนของผู้กระทำผิดทางกรมป่าไม้ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็มาจัดระเบียบและทำให้เกิดความถูกต้องเกิดขึ้นในพื้นที่

ร่วมแสดงความคิดเห็น