รับมือแล้งลาม ผลผลิตแพง หมูราคาพุ่งรับตรุษจีน

กลุ่มผู้เลี้ยงสุกร ภาคเหนือ (เชียงใหม่) กล่าวว่า ปัญหาราคาสุกรในพื้นที่ ซึ่งหน่วยงานราชการ ขอให้ตรึงราคา 75-80 บาท/กก. พร้อมเปรียบเทียบตลาดหลาย ๆ แหล่ง เช่น จีนที่เผชิญการแพร่ระบาดโรคอหิวาต์แอฟริกันทำให้ราคาขยับเป็น 200 บาท/กก. และเวียดนาม กก.ละ 120 บาทนั้น การตรึงราคาในระยะสั้น ๆ คงทำได้ แต่ตามกลไกตลาดแล้ว คาดว่าช่วงตรุษจีนนี้คงได้เห็นเนื้อหมูขยับไปถึง 150-180 บาท/กก. แน่นอน

ด้านค้าภายในหลายพื้นที่ของภาคเหนือตอนบน ระบุว่านายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้วางมาตรการรับมือปัญหาผลกระทบจากภัยแล้งที่จะมีต่อราคาสินค้า เกิดการขาดแคลน รวมถึงการกักตุนและฉวยโอกาสปรับขึ้นราคา โดยกำชับให้ทุกหน่วยงานในสังกัด บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการ เช่น ส่งเสริมการเพาะปลูกพืชระยะสั้นที่ใช้น้ำน้อยแทน วางกลไกช่วยลดภาระค่าครองชีพ สำหรับราคาปศุสัตว์ ที่จำเป็นในช่วงไหว้ตรุษจีน ทั้ง หมู ไก่ นั้น เฉพาะหมู พบว่าเมื่ออากาศร้อนจะโตช้า ประกอบกับเกิดปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกันระบาดในจีน จึงอาจทำให้ราคาหมูมีชีวิตมีแนวโน้มสูง และผลกระทบภัยแล้งขณะนี้พบว่า มีสินค้าหลายรายการที่ได้รับผลกระทบ เช่น ผลผลิตนาปรังจะลดลงจาก 8 ล้านตัน เหลือเพียง 3-4 ล้านตัน ส่งผลให้ราคาข้าว คงปรับขึ้น เช่น ข้าวเปลือกเจ้าจาก 8 พัน อาจขยับเป็น 9 พัน ถึงหมื่นกว่าบาท

ทั้งนี้อธิบดีกรมการค้าภายใน แถลงผ่านสื่อว่า กรมได้หารือกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ขอความร่วมมือเครือผู้เลี้ยงทุกพื้นที่ตรึงราคาไว้ที่ กก.ละ 75-80 บาท หากเกินกว่า กก.ละ 80 บาท อาจจะใช้มาตรการจำกัดการส่งออก ส่วนราคาน้ำดื่มบรรจุขวดยังอยู่ในภาวะปกติ ทีมข่าวตรวจสอบ มาตรการกลไกป้องกันและรับมือผลกระทบจากภัยแล้งในพื้นที่เชียงใหม่-ลำพูน พบว่า หน่วยงานรัฐฯ ใช้มาตรการขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้จำหน่ายสินค้าในราคาเหมาะสม ผ่านร้านค้าธงฟ้า และ จัดชุดเจ้าหน้าที่ทั้งค้าภายใน ร่วมบูรณาการแผนกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อป้องกันผลกระทบ ความเดือดร้อนของชาวบ้าน

ในส่วนราคาผลผลิตพืชผลเกษตร หลาย ๆ รายการ ยังทรงตัว แต่บางตลาด แหล่งจำหน่าย มีการขยับ ปรับราคาไม่มากนัก เนื่องจากมีหน่วยงานรัฐฯ จัดชุดเจ้าหน้าที่สุ่มตรวจอย่างใกล้ชิด โดยราคาผลผลิต เช่น กะหล่ำดอก คละ 18-20 บาท/กก. ข้าวโพดฝักอ่อน 35-40 บาท/กก. ขึ้นฉ่าย คัด 7-8 บาท/ขีด แตงกวา คละ 25-28 บาท/กก. ผักกะเฉด 20-25 บาท/กำ ซึ่งราคาผลผลิตตามแหล่งส่ง ทั้งเมืองใหม่ จ.เชียงใหม่, กาดหนองดอก จ.ลำพูน ราคาผลผลิตปรับตัวบางรายการ แตกต่างจากตลาดชุมชน ราคาผลผลิต สินค้ายังทรงตัว

ด้านผู้ค้าเนื้อหมู กาดบ้านแป้น ลำพูน กล่าวว่า ราคาหมู ขายส่ง ชำแหละ นำมาขายปลีกตามเขียง ราคาต้องปรับตัว จนชาวบ้านบ่นกัน เนื่องจากราคาหมูแพงเช่นเดียวกับตลาดอื่น ๆ เท่าที่พูดคุยกัน พบว่าราคาปรับตัวทุกวัน รวมถึงไข่ด้วย คาดว่าตรุษจีนนี้ราคาเนื้อหมู อาจพุ่งแตะที่ 150-180 บาท/กก. ในบางแหล่งค้าที่มีความต้องการสูง เช่น เมืองเชียงใหม่ที่มีคนจีน ต้องใช้หมูเซ่นไหว้กันมาก

ผู้ค้าผลไม้ กาดเมืองใหม่ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ราคาผลไม้ ปรับเป็นบางรายการ ถ้านำเข้าก็มีราคาขยับพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นแอปเปิ้ล, องุ่น, ส้มจีน และสาลี่ แต่เท่าที่ขายส่ง ขายปลีกรายวันกลุ่มที่มีกำลังซื้อก็ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร จะแตกต่างจากชาวบ้านทั่วไป ที่อาจเลี่ยงไปซื้อผลไม้ ในพื้นที่ เช่น ส้ม และองุ่น

ผู้สื่อข่าวตรวจสอบ สถานการณ์ภัยแล้ง ล่าสุดศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจแก้ไขและบรรเทาวิกฤตภัยแล้ง 2562/63 ระบุปริมาณการกักเก็บน้ำในอ่างขนาดใหญ่ ขนาดกลางทั่วประเทศ 447 แห่ง มี 61% ของความจุ ราว ๆ 46,143 ล้านลบ.ม. ใช้การได้ 22,223 ล้านลบ.ม. มีการประกาศพื้นที่ภัยแล้ง 18 จังหวัดใน 89 อำเภอ 509 ตำบล 4,429 หมู่บ้าน /ชุมชน ซึ่งภาคเหนือจะมีที่ เชียงราย, น่าน และอุตรดิตถ์ เป็นต้น สถานการณ์ในพื้นที่เชียงใหม่ ยังไม่วิกฤติ แต่หน่วยงานชลประทาน ขอความร่วมมือ ประหยัดการใช้น้ำ และจังหวัดตั้งศูนย์อำนวยการช่วยเหลือเร่งด่วน หากมีการร้องขอ ประสานความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาภัยแล้ง และแนะนำการเกษตรนอกเขตชลประทาน ต้องวางแผนการเพาะปลูก เพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำ และการแบกรับภาระต้นทุนในการจัดหาน้ำมาใช้ด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น