มทร.ล้านนา โชว์ผลงานวิจัย สถานีอัดประจุแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าแบบไร้สาย

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา โชว์ผลงานวิจัย การพัฒนาสถานีอัดประจุแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าแบบไร้สาย ให้นักศึกษาได้เรียนรู้ พร้อมพัฒนาชิ้นงานให้ได้มาตรฐานสากล เพื่อนำไปใช้จริงในอนาคต

วันนี้ (13 ม.ค. 63) ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาดอยสะเก็ด อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ จัดโครงการสัมมนาสนทนากลุ่มหัวกะทิ เรื่อง “การพัฒนาสถานีอัดประจุแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าแบบไร้สายสำหรับประเทศไทย” เพื่อเป็นการถ่ายทอดความรู้ในด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด ให้กับผู้ที่มีความสนใจ โดยเฉพาะใน 3 กลุ่มหลัก คือ ผู้ประกอบการ ประชาชนทั่วไป และกลุ่มนักเรียนนักศึกษาทั้งภายในและนอกมหาวิทยาลัยฯ ให้มีความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของเทคโนโลยี หลักการทำงาน ข้อกำหนดของมาตรฐานทางเทคโนโลยีต่าง ๆ และโอกาสที่จะนำเทคโนโลยียุคใหม่ไปใช้ในอนาคต โดยในวันนี้เป็นการเริ่มถ่ายทอดความรู้ให้กับในส่วนของคณะครูและนักศึกษา โดยมี นายธีระศักดิ์ สมศักดิ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยระบบพลังงานสะอาด และ นายอนนท์ นำอิน หัวหน้าโครงการพัฒนาสถานีอัดประจุแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าแบบไร้สาย นำคณะอาจารย์และนักศึกษา เยี่ยมชมศูนย์วิจัยพลังงานสะอาดและสถานีอัดประจุแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าแบบไร้สาย ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

นายอนนท์ นำอิน หัวหน้าโครงการพัฒนาสถานีอัดประจุแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าแบบไร้สาย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้ดำเนิน “โครงการพัฒนาสถานีอัดประจุแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าแบบไร้สาย” โดยได้รับการสนับสนุนงานวิจัยจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ภายใต้งบประมาณเกือบ 4 ล้านบาท เพื่อศึกษาและพัฒนาสถานีอัดประจุแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าแบบไร้สายมาใช้กับยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมีการนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยมากขึ้นในอนาคต เนื่องจากไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ และไม่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ประกอบกับระบบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า สามารถพัฒนาให้เดินทางได้ในระยะไกลขึ้นและมีราคาที่ถูกลง ดังนั้น กลุ่มวิจัยพลังงานสะอาด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล จึงได้เล็งเห็นความสำคัญในส่วนนี้ และได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาสถานีอัดประจุแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าขนาด 10 กิโลวัตต์ ซึ่งเพียงพอสำหรับการประจุไฟฟ้าให้กับยานยนต์ไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ได้ โดยใช้หลักการประจุแบตเตอรี่แบบอาศัยการเหนี่ยวนำ หรือการชาร์จแบบไร้สาย ซึ่งจะช่วยให้เกิดความสะดวกและความปลอดภัยในการชาร์จแบตเตอรี่ เนื่องจากไม่จำเป็นต้องเสียบปลั๊กหรือเดินสายไฟต่อเข้ากับตัวรถ ทำให้ผู้ใช้ไม่ต้องสัมผัสกับอุปกรณ์ไฟฟ้าโดยตรง

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการดังกล่าว ขณะนี้อยู่ในช่วงของการพัฒนาต้นแบบ และกำลังพัฒนาไปสู่ในระดับอุตสาหกรรมให้ได้ในอนาคต ซึ่งจะต้องมีขั้นตอนและการปรับเปลี่ยนตัวชิ้นงานต่างๆ ให้ตรงตามมาตรฐานอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังจะเป็นต้นแบบของชิ้นงานที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับหน่วยงาน หรือสถานศึกษาต่างๆ ที่จะช่วยกันคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศอีกด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น