ลูกจ้างเกษตรสะอื้น หั่นงบ 2563 ถูกเลิกจ้างเพียบ

ลูกจ้างชั่วคราว สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร ในพื้นที่ภาคเหนือ เปิดเผยว่า กรณีกรมวิชาการถูกตัดงบปี 63 ส่งผลให้สำนักวิจัยทั้ง 8 เขต รวมถึงศูนย์ระดับจังหวัดที่สังกัดกรมฯ ต้องปรับแผนในการจัดสรรงบจ้างลูกจ้าง โดยบางแห่งที่มีลูกจ้างมาก ต้องใช้วิธีการเลิกจ้าง บางแห่งตัดเงินเดือน ลดทอนค่าจ้างลงตามความเหมาะสม

งบฯ ปี 2563 นั้น กรมวิชาการเกษตรถูกตัดไปกว่า 600 ล้านบาท จากที่เสนอขอ 1,500 ล้านบาท เหลือเพียง 899 ล้านบาท เนื่องจากมีการท้วงติง แผนใช้งบหลายรายการ อาทิ งบฯ เช่าคอมพิวเตอร์ เครื่องละ 300,000 บาทต่อปี ขณะที่ราคากลางของสำนักงบประมาณ ประเมินอยู่ที่เครื่องละ 1.7 หมื่นบาท และยังพบค่าซ่อมบำรุงอีกปีละ 60,000 บาท

ทั้งนี้ผู้บริหารสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร หลาย ๆ แห่ง กล่าวว่าลูกจ้างที่จ้างเหมาในตำแหน่งต่าง ๆ ของแต่ละศูนย์วิจัย ปกติจะต่อสัญญาทุก 3 เดือน อัตราจ้างเฉลี่ย 6,000-10,000 บาท ถ้างบไม่มีต้องเลิกจ้างส่วนหนึ่ง และบางส่วนปรับลดเงินเดือน 50% ถ้าสมัครใจทำงานต่อ และให้โอกาสหางานอื่นได้ ลูกจ้างชั่วคราวกรมวิชาการเกษตรทั่วประเทศ จะมี 1,705 คน กลุ่มนี้น่าเห็นใจบางคนก็ทำรอสอบบรรจุรับราชการก็เยอะ

ในส่วนข้าราชการของสำนักและศูนย์วิจัยฯ ทุกแห่งพร้อมใจร่วมมาตรการเสียสละไม่รับเบี้ยเลี้ยง กรณีปฏิบัติราชการภาคสนาม ซึ่งได้วันละ 240 บาท กรณีออกตรวจและกำจัดโรคและศัตรูพืช หากค้างคืนเหมาจ่าย 500 บาท ส่วนมากพยายามเดินทางไป-กลับ

กรณีค้างคืนก็จะมีผู้นำชุมชน กระทั่งเกษตรกรในพื้นที่ เอื้อเฟื้อที่พัก หรือนอนตามวัด แทนพักตามโรงแรม ส่งผลให้การมีผู้ปฏิบัติงานลดลง งานบางส่วนก็อาจล่าช้าไปบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการออกตรวจรับรองมาตรฐานแปลงทั้งแบบเกษตรปลอดภัย ตามมาตรฐาน จีเอพี. และเกษตรอินทรีย์ (ออร์แกนิค) รวมถึงโรงคัดบรรจุ โรงแปรรูปตามมาตรฐาน จีเอ็มพี. ซึ่งเกษตรกรและผู้ประกอบการ ต้องใช้กรณีส่งออกและยกระดับราคาสินค้า

เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในพื้นที่ภาคเหนือ (เชียงใหม่ ) ยอมรับว่าอุปสรรค ปัญหาที่เกิดขึ้น ท้าทายการทำตามหน้าที่อย่างมาก ที่จะไม่เห็นแก่ประโยชน์ ในการใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาอามิส จากการตรวจซึ่งเป็นต้นทางของการอนุมัติ ออกใบอนุญาตต่าง ๆ แต่ละรูปแบบในพื้นที่

เพราะ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายปี 2563 ยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่งบที่ได้รับเบื้องต้นบางส่วนหมดแล้ว ถ้าไม่เร่งแก้ไขจะเกิดผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งการตรวจพืชผักที่นำเข้าทางด่านชายแดน การป้องกันโรคและศัตรูพืช การออกใบรับรองมาตรฐานต่าง ๆ ตลอดจนการตรวจการจำหน่ายปุ๋ยและสารเคมีทางการเกษตร ให้เป็นไปตามมาตรการจำกัดการใช้ และป้องกันการนำปุ๋ย – ยาปลอม มาหลอกขายเกษตรกรด้วย

ด้านกระทรวงการคลัง แถลงล่าสุดว่า กรณีงบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานในกำกับ ซึ่งกรรมาธิการปรับลดลงวงเงินงบ เหลือ 31,644 ล้านบาท จากเดิมที่เสนอขอ 32,577 ล้านบาท ซึ่งกรมวิชาการเกษตรค่อนข้างได้รับผลกระทบ ในส่วนของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรทั้ง 8 เขตนั้น คงต้องหาทางแก้ไขต่อไป

ส่วนกรณีที่ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2563 อาจส่อเป็นโมฆะ เนื่องจากปัญหากดบัตรแทนกันในการลงมติ ยังไม่สามารถสรุปได้ แต่รัฐบาลได้สั่งการให้กระทรวงการคลัง เฝ้าติดตามใกล้ชิด และคิดแผนสำรองรับมือกับสถานการณ์นี้

โดย นายอุตตม สาวนายน รมว.กระทรวงการคลัง ระบุในการแถลงต่อสื่อว่าได้มอบหมายหน่วยงานในสังกัดเตรียมแผน แนวทางดำเนินงานไว้ทุก ๆ ช่องทางแล้ว รวมถึงการใช้ พ.ร.ก.กู้เงิน กรณีร่าง พ.ร.บ. งบปี 63 เป็นโมฆะ และยืนยันว่า แม้งบฯ ปี 2563 จะล่าช้า จะไม่กระทบต่อเงินเดือนข้าราชการ เนื่องจากได้ให้สำนักงบประมาณดูแลไว้ล่วงหน้า

ร่วมแสดงความคิดเห็น