กฟผ.เหมืองแม่เมาะ เกาะติดสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 แบ่ง 6 พื้นที่รับผิดชอบ

นายจรัญ คำลา วิศวกรระดับ 10 กองปฏิบัติการระบบขนส่งวัสดุ (วศ.10 กปร-ช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เหมืองแม่เมาะ ได้มีการประชุมเตรียมการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองเหมืองแม่เมาะ โดยมี นายอัษฎา คงชนะ วิทยากรระดับ 11 ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ (วก.11 ชชม.) เป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมได้สรุปแนวทางแก้ไขและสิ่งที่ต้องดำเนินการ ในการนำรถบรรทุกน้ำขนาด 12,000 ลิตร ฉีดล้างถนน ฉีดพรมน้ำ และพ่นไอน้ำ โดยกำหนดขอบเขตรับผิดชอบแบ่งเป็น 6 พื้นที่ ประกอบด้วย

1. กองฟื้นฟูสภาพเหมือง (กฟม-ช.) รับผิดชอบถนนบริเวณอาคารที่ทำการเหมืองแม่เมาะ สวนพฤกษชาติและสวนเฉลิมพระเกียรติฯ บริเวณ Tower Crane อาคาร 300 ถนนสายหลักตั้งแต่แยกศาลพ่อปู่ทั้ง 5 จนถึงทางขึ้นสวนเฉลิมพระเกียรติฯ ดำเนินการวันเว้นวัน
2. กองจัดการน้ำและสนับสนุนปฏิบัติการ (กจส-ช.) รับผิดชอบถนนบริเวณข้างคลองแม่ขาม (ฝั่งใน) และสะพานหัวฝาย-สะพาน กม.5 ดำเนินการวันละ 1 ครั้ง
3. กองปฏิบัติการระบบขนส่งวัสดุ (กปร-ช.) พื้นที่รอบลานกองถ่าน ดำเนินการวันละ 2 ครั้ง
4. แผนกควบคุมผู้รับจ้างเหมืองแม่เมาะ (หคจ-ช.) รับผิดชอบพื้นที่ถนนลาดยางแยกบ้านห้วยคิงไปตามถนนเลียบคลอง Main Diversion ถึงสะพานข้ามคลอง Main Diversion กม.9 ดำเนินการวันละ 1 ครั้ง
5. กองปฏิบัติการเหมือง (กปม-ช.) รับผิดชอบถนนเส้นทางลงบ่อเหมืองด้านทิศตะวันออก และบริเวณอาคารที่ทำการเหมืองแม่เมาะ สนามกอล์ฟ กฟผ.แม่เมาะ และสวนพฤกษชาติ ดำเนินการทุกวัน
และ 6. แผนกรักษาความปลอดภัย (หรป-ช.) รับผิดชอบบริเวณอาคารที่ทำการเหมืองแม่เมาะ ดำเนินการวันเว้นวัน ขณะเดียวกัน ให้เตรียมความพร้อมรถดับเพลิงสนับสนุนหน่วยงานภายนอกตามความเหมาะสม ซึ่งจะมีการพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง

นายจรัญ กล่าวต่อว่า การดำเนินงานแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบได้เริ่มดำเนิน การตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2563 เป็นต้นไป ขณะเดียวกันยังมีการเก็บข้อมูลส่งให้คณะทำงาน โดยรายงานความก้าวหน้าผลการปฏิบัติงานทุกสิ้นเดือน ไม่เกินวันที่ 5 ของเดือนถัดไป เพื่อนำข้อมูลมาหารือ และวางแผนการดำเนินการในลำดับต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจาก แผนกประชาสัมพันธ์เหมืองแม่เมาะ

ร่วมแสดงความคิดเห็น