กฟผ.แม่เมาะ เข้มมาตรการควบคุมฝุ่นอย่างเข้มงวดตั้งแต่แหล่งกำเนิด

ชชม. เผยผลสรุป 2 งานวิจัยย้ำชัดแหล่งที่มาของฝุ่นขนาดเล็กในพื้นที่แม่เมาะประมาณ 50% มาจากควันที่เกิดจากการเผาวัสดุ ขณะที่ PM2.5 จากการเผาถ่านหินโรงไฟฟ้าแม่เมาะ มีเพียง 4.53% เดินหน้าโครงการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องฝุ่น PM2.5 ให้กับชุมชนรอบพื้นที่ กฟผ.แม่เมาะ 15 หมู่บ้าน 1 โรงเรียน 1 กิจกรรมนอกสถานที่ หวังชุมชนเข้าใจปัญหาฝุ่นและรู้วิธีป้องกันตัวเอง

คุณอำพล กิติโชตน์กุล

นายอำพล กิติโชตน์กุล ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ (ชชม.) เปิดเผยว่าจากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ทำให้ กฟผ.แม่เมาะ ทั้งเหมืองแม่เมาะและโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ดำเนินมาตรการควบคุมฝุ่นอย่างเข้มงวดตั้งแต่แหล่งกำเนิด ทั้งเพิ่มความชื้นด้านการฉีดพรมน้ำหน้างานขุดขน, สเปรย์น้ำที่ระบบสายพานลำเลียงเป็นระยะและบริเวณเครื่องโม่ดินและถ่าน c]tฉีดพรมน้ำบนถนนบริเวณบ่อเหมืองและที่ทิ้งดิน

สำหรับลานกองถ่านก็ได้มีการสเปรย์น้ำ, คลุมผ้าใบลานกองถ่าน เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นถ่าน, เพิ่มการฉีดพรมน้ำที่สายพานลำเลียงใกล้จุดปล่อยดินและปลาย Spreader, ลดระดับการโปรยดินให้มากที่สุด และการทำแนวคันดิน นอกจากนั้น มีการจัดทำแผนการป้องกันระยะยาวได้แก่ การปลูกต้นไม้เป็น แนวกันฝุ่น (Green Belt), การปลูกพืชคลุมดินและพืชยืนต้นไปพร้อม ๆ กับทำเหมือง ซึ่งช่วยลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นจากพื้นที่ว่างเปล่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ยังควบคุมการทำงานของบริษัทผู้รับจ้างด้านสิ่งแวดล้อม ให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ผนวกไว้ในสัญญา ทั้งการตรวจประเมิน (Audit) กำหนดให้จัดทำจุดรับน้ำให้เพียงพอต่อรถน้ำ ทั้งนี้ หน่วยงานที่มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของผู้รับจ้างเพิ่มความเข้มงวดในการเข้าสำรวจพื้นที่บ่อเหมืองและที่ทิ้งดินเป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง หากพบฝุ่นฟุ้งกระจายจะแจ้งให้บริษัทผู้รับจ้างเข้าแก้ไขในทันที รวมถึงสั่งให้หยุดงานเพื่อดำเนินการแก้ไขประมาณ 1 ชั่วโมง แต่หาการแก้ไขยังไม่แล้วเสร็จ จะสั่งให้หยุดงานต่อจนกว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ

นายอำพล กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา กฟผ.แม่เมาะ ได้ร่วมกับหน่วยงานภายนอกศึกษาวิจัยแหล่งที่มาของฝุ่นขนาดเล็กอย่างต่อเนื่อง ทั้งโครงการศึกษาลักษณะและแหล่งที่มาของฝุ่นขนาดเล็กในพื้นที่แม่เมาะ โดย ดร.อาภา หวังเกียรติ รองคณบดีฝ่ายบริหารและสื่อสารองค์กร วิทยาลัpวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลการศึกษาสรุปว่าแหล่งที่มาของฝุ่นขนาดเล็กในพื้นที่แม่เมาะประมาณ 50% มาจากควันที่เกิดจากการเผาวัสดุ เศษวัชพืช และไฟป่า รองลงมาเกิดจากฝุ่นรถยนต์

นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่ปรึกษาเพื่อศึกษาแหล่งที่มาของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบริเวณชุมชนรอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะ โดยการพัฒนาระบบต้นแบบตรวจวัดและจำแนกฝุ่นละออง ดำเนินการโดย ดร.รุ่งโรจน์ เมาลานนท์ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ซึ่งผลการดำเนินงาน พบว่า องค์ประกอบหลักของฝุ่นละอองในบรรยากาศทั่วไปในบริเวณชุมชนรอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะไม่สอดคล้องกับฝุ่นละอองที่มาจากการดำเนินงานของ กฟผ.แม่เมาะ ซึ่งมีฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 จากการเผาถ่านหินโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เพียง 4.53%

“จากผลการวิจัยที่ กฟผ.แม่เมาะ ทำร่วมกับหน่วยงานภายนอกทำให้ทราบถึงแหล่งที่มาของฝุ่น ถึงแม้ฝุ่นที่เกิดจากการเผาถ่านหินโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จะมีน้อยก็ตามแต่ กฟผ.แม่เมาะ ไม่ได้นิ่งนอนใจกำชับให้ผู้ปฏิบัติงานและบริษัทผู้รับจ้างปฏิบัติตามมาตรการฝุ่นละอองอย่างเคร่งครัดและให้ดำเนินการต่อเนื่องในพื้นที่ กฟผ.แม่เมาะ รวมถึงพื้นที่ชุมชนโดยรอบ ได้บูรณาการความร่วมมือกับอำเภอแม่เมาะ และจังหวัดลำปาง เฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ไขปัญหา นอกจากนั้นมีการลงพื้นที่ให้ความรู้กับชุมชน” นายอำพล กล่าว

นายอำพล กล่าวอีกว่า เหมืองแม่เมาะ ได้ดำเนินโครงการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องฝุ่น PM2.5 ให้กับชุมชนรอบพื้นที่ กฟผ.แม่เมาะ วัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจถึงสาเหตุของการเกิดฝุ่น PM2.5 และแนวทางปฏิบัติตนของชุมชนเมื่อเกิดปัญหา เพื่อรณรงค์ลดการเผาป่าและเผาเศษวัชพืชทางการเกษตรให้กับชุมชนรอบพื้นที่ กฟผ.แม่เมาะ โดยดำเนินการตั้งแต่เดือนมิถุนายน-ตุลาคม 2562 ซึ่งผู้ปฏิบัติงานเหมืองแม่เมาะได้ลงพื้นที่จำนวนทั้งสิ้น 15 หมู่บ้าน 1 โรงเรียน และ 1 กิจกรรมนอกสถานที่

“ผู้ปฏิบัติงานเหมืองแม่เมาะ ได้รวบรวมเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับฝุ่น PM2.5 ทั้งเรื่องการรับมือกับฝุ่น PM2.5 , สถานการณ์ค่าฝุ่น, การแปรผลการตรวจวัด, ผลกระทบจากฝุ่นมีอะไรบ้าง รวมถึงวิธีป้องกันฝุ่นทำอย่างได้บ้าง, การลดฝุ่นทำได้อย่างไร รวมถึง แนะนำแอพพลิเคชั่นและช่องทางการติดตามค่าฝุ่นละอองให้ชาวบ้านในชุมชนอำเภอแม่เมาะ ได้รับทราบ โดยได้จัดทำเป็นแผ่นพับให้ความรู้และจัดทำสื่อ X-Stand ควบคู่ไปกับการลงพื้นที่ให้ความรู้แก่ชุมชนซึ่งเป็นภารกิจหลักของโครงการ ที่ผ่านมาได้รับการตอบรับจากชาวบ้านเป็นอย่างดี”

ร่วมแสดงความคิดเห็น