นายกฯ ‘ประยุทธ์’ เยี่ยมชมนิทรรศการ “พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ”

​วันนี้ (11 กุมภาพันธ์ 2563) ณ ทำเนียบรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เยี่ยมชมนิทรรศการการขับเคลื่อนพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน พระสงฆ์แข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำโครงการพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ บูรณาการ การส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม ร่วมกับศิลปวัฒนธรรมในความเป็นวัด โดยใช้หลัก 5 ร. คือ สะอาดร่มรื่น สงบร่มเย็น สุขภาพร่วมสร้าง ศิลปะร่วมจิต (วิญญาณ) และชาวประชาร่วมพัฒนา โดยเน้นการทำงานแบบบูรณาการทุกภาคส่วน ให้คนในสังคมร่วมกันพัฒนาฐานรากของชุมชน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการสุขภาพได้ด้วยตนเอง เพิ่มความรอบรู้ด้านสุขภาพ สร้างชุมชน ท้องถิ่นและองค์กรรอบรู้ด้านสุขภาพ สู่วัดรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literate Temple) ซึ่งที่ผ่านมา ได้ดำเนินการในระดับพื้นที่ โดยเริ่มตั้งแต่

1) การจัดทำแผนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ” ตามธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พุทธศักราช 2560

2) ขับเคลื่อนการดำเนินงานวัดส่งเสริมสุขภาพสู่วัดรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literate Temple)

3) จัดทำหลักสูตรและฝึกอบรมพระคิลานุปัฏฐาก (พระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด-อสว.) หลักสูตร 70 ชั่วโมง และหลักสูตร 35 ชั่วโมง ขณะนี้มีพระสงฆ์ที่ผ่านการอบรม จำนวน 5,716 รูป

และ 4) การดูแลตรวจคัดกรองสุขภาพพระสงฆ์ตามโครงการ 1 วัด 1 โรงพยาบาล/รพ.สต. เพื่อให้พระสงฆ์ดูแลสุขภาพตนเองได้อย่างถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย พระสงฆ์ที่ป่วยได้รับการดูแลต่อเนื่อง ส่งต่อไปรักษายังโรงพยาบาล ส่วนกลุ่มเสี่ยงได้รับความรู้เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ดูแลด้านโภชนาการ การออกกำลังกาย ลดน้ำหนัก ควบคุมความดันโลหิต และระดับน้ำตาลในเลือด เข้ารับการตรวจสุขภาพช่องปาก อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ร่วมกับการดูแลอนามัยช่องปากอย่างเหมาะสม พร้อมให้ความรู้ประชาชนเรื่องการถวายอาหารพระสงฆ์ ลดหวาน มัน เค็ม

ทางด้าน แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า พระสงฆ์ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ทางสุขภาพ ทั้งโรคอ้วน และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาการบริโภคไม่ถูกหลักโภชนาการ ต้องฉันอาหารจากการบิณฑบาต หรือตามที่ฆราวาสนำอาหารมาถวาย จึงไม่สามารถเลือกอาหารได้

รวมถึงมีข้อจำกัดบางประการด้านการออกกำลังกาย กรมอนามัยจึงร่วมกับเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง รณรงค์ให้ประชาชนทำบุญตักบาตรด้วยภัตตาหารชูสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม และถวายความรู้ในการดูแลสุขภาพแก่พระสงฆ์ เช่น จัดภัตตาหารที่เหมาะสมต่อสุขภาพ การดูแลอนามัยช่องปากของพระสงฆ์ รวมถึงแนะนำการออกกำลังกายที่เหมาะสม เช่น การเดินบิณฑบาต การเดินจงกรม งานทำความสะอาดโบสถ์ วิหาร กวาดลานวัด และการย่อเข่าลุก-นั่งเก้าอี้ เพื่อสร้างสุขภาพที่ดีให้กับพระสงฆ์

ร่วมแสดงความคิดเห็น