สดร. มอบ “เพชรแห่งห้วงอวกาศ” แทนรักและกำลังใจในวันวาเลนไทน์

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ขอมอบ “เพชรแห่งห้วงอวกาศ” สุดล้ำค่า แทนรักและกำลังใจให้ชาวโคราชและชาวไทยเข้มแข็ง แข็งแกร่งดั่งเพชรในวันวาเลนไทน์ที่จะถึงนี้

กระจุกดาวรูปเพชร (Diamond Cluster, NGC 2516, Caldwell 96) เป็นวัตถุท้องฟ้าประเภทกระจุกดาวเปิดที่สวยงาม และสว่างมากแห่งหนึ่งบนฟ้าซีกโลกใต้ อยู่ในกลุ่มดาวกระดูกงูเรือ ห่างออกไปประมาณ 1,300 ปีแสง มีอันดับความสว่าง 3.8 จัดเป็นกระจุกดาวที่สว่างที่สุด 10 อันดับแรกบนท้องฟ้า จึงสามารถมองเห็นได้ง่ายด้วยตาเปล่า ภายในกระจุกดาวมีดาวฤกษ์สมาชิกประมาณ 80 ดวง ดาวที่สว่างที่สุดในกระจุกเป็นดาวยักษ์แดง 2 ดวง ท่ามกลางดาวฤกษ์สีน้ำเงินมากมาย

กระจุกดาวรูปเพชร มักถูกเรียกว่ากระจุกดาวรวงผึ้งทางใต้ (Southern Beehive Cluster) เนื่องจากมีความคล้ายคลึงกับกระจุกดาวรวงผึ้ง (Beehive Cluster, M44) ที่สามารถเห็นได้จากซีกโลกเหนือ ค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2294 – 2295 โดย นิกอลา หลุยส์ เดอ ลากาย (Nicolas Louis de Lacaille) นักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศส

บันทึกและประมวลผลภาพโดย คุณตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธ์ และคุณกีรติ คำคงอยู่ ด้วยกล้องโทรทรรศน์ทางไกลอัตโนมัติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5 เมตร ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ติดตั้ง ณ หอดูดาวสปริงบรู๊ค ประเทศออสเตรเลีย

งานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
โทร. 053-121268-9 ต่อ 210-211 , 081-8854353 โทรสาร 053-121250

ร่วมแสดงความคิดเห็น