สดร. เดินหน้าวิจัยหาเหตุต้นตอฝุ่น PM 2.5 พร้อมจัดตั้งภาคีความร่วมมือ สนองนโยบายรัฐ หวังแก้ปัญหาได้อย่างชัดเจน และมีประสิทธิภาพ

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เผยกลุ่มวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศ นำ “แบบจำลองพยากรณ์คุณภาพอากาศ” และ “ไลดาร์” เครื่องมือวิจัยและอุปกรณ์เก็บข้อมูลการสังเกตการณ์ชั้นบรรยากาศ วิเคราะห์สาเหตุมลพิษทางอากาศในไทย พร้อมเดินหน้าจัดตั้งภาคีความร่วมมือวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศแห่งประเทศไทย ระดมคณาจารย์ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญจาก 8 หน่วยงานภาครัฐ 20 มหาวิทยาลัย ร่วมวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศ และคุณภาพอากาศของไทย โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) หวังตอบโจทย์การแก้ปัญหาเร่งด่วนของรัฐบาลได้อย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพ  

ดร.วนิสา สุรพิพิธ นักวิจัยชำนาญการ หนึ่งในทีมวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศ สดร. กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้รับผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งความแปรปรวนของฤดูกาล อุณหภูมิของโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลต่อคุณภาพอากาศอย่างมาก หลายพื้นที่ประสบปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) และมลพิษทางอากาศที่เกี่ยวข้อง เช่น ก๊าซโอโซนระดับผิวดิน ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ สารมลพิษตกค้างยาวนาน เป็นต้น

สดร. เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงจัดตั้งกลุ่มวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศ ดำเนินการศึกษาวิจัยด้านวิทยาศาสตร์บรรยากาศมาอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมตั้งแต่ผลกระทบจากอนุภาคที่มาจากอวกาศต่อชั้นบรรยากาศ จนถึงการศึกษาการเกิด และการเคลื่อนตัวของฝุ่นละอองขนาดเล็กในชั้นบรรยากาศ

โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย หาสาเหตุและเฝ้าระวังการเพิ่มขึ้นของฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเกิดขึ้นทุกปีในช่วงฤดูแล้ง (ธันวาคม – มีนาคม) ประกอบกับสภาวะความกดอากาศสูงที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในฤดูแล้ง ทำให้ลมสงบ ฝุ่นละอองขนาดเล็กถูกพัดพาออกไปได้น้อย จึงสะสมในปริมาณหนาแน่นปกคลุมเหนือตัวเมือง เช่น กรุงเทพมหานคร นครราชสีมา ฯลฯ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศเป็นแอ่ง ดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

งานวิจัยนานาชาติเกี่ยวกับสาเหตุการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM 2.5) พบว่าสาเหตุการเกิด PM 2.5 ไม่ได้มาจากการเผา ในที่โล่งหรือยานพาหนะเพียงเท่านั้น แต่ยังเกิดจากการใช้ประโยชน์จากที่ดิน โดยเฉพาะแหล่งที่มาจากการใช้ปุ๋ย ในการเกษตรที่มีส่วนผสมของไนโตรเจน ซึ่งสารตั้งต้นของ PM 2.5 คือ ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์และแอมโมเนีย และกลไกการปลดปล่อยสารประกอบไฮโดรคาร์บอน ประเภทสารอินทรีย์ระเหยง่ายจากพืช เช่น ก๊าซไอโซพรีน ก๊าซโมโนเทอร์พีน ฯลฯ ก๊าซเหล่านี้จะทำปฏิกิริยากับไนโตรเจนออกไซด์

โดยมีแสงอาทิตย์ที่ตกกระทบในชั้นบรรยากาศ ใกล้พื้นผิวโลกเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาดังกล่าว เกิดเป็นก๊าซโอโซนและอนุภาคขนาดเล็กหรือฝุ่น PM 2.5 นั่นเอง การศึกษาในปัจจุบันจึงต้องอาศัยเครื่องมือ ได้แก่ แบบจำลองคณิตศาสตร์สำหรับพยากรณ์คุณภาพอากาศ โดยนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องป้อนเข้าไปในแบบจำลอง เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุและแหล่งกำเนิดที่แท้จริง

ดร.วนิสา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจุบัน สดร. ได้นำแบบจำลองพยากรณ์คุณภาพอากาศดังกล่าว มาพัฒนาและปรับใช้ในประเทศไทย เพื่อเก็บข้อมูลวิเคราะห์หาสาเหตุของฝุ่นพิษในประเทศไทย และแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีเครื่องมือวิจัยและเก็บข้อมูลการสังเกตการณ์ชั้นบรรยากาศ เรียกว่า ไลดาร์ (Light Detection and Ranging Radar: LiDAR) นำมาเก็บข้อมูลชั้นบรรยากาศตั้งแต่ระดับพื้นดิน ขึ้นไปจนถึงระดับความสูง 20 กิโลเมตร สามารถบ่งชี้คุณภาพอากาศที่มีผลกระทบต่อมนุษย์และระบบนิเวศของโลกโดยรวม ติดตั้ง 2 จุด ในประเทศไทย ได้แก่ ภายในอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา อ.เมือง จ.สงขลา สามารถบ่งชี้ระดับฝุ่นละอองลอยในชั้นบรรยากาศอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง และนำข้อมูลมาวิเคราะห์ค่าความเข้มข้นของ PM 2.5 ได้อย่างแม่นยำมากขึ้น

ด้าน ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า สดร. ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว และเห็นว่าการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์บรรยากาศของประเทศไทย ปัจจุบันยังไม่ปรากฏแนวทางการวิจัยที่ชัดเจนรอบด้าน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิจัยดังกล่าว ยังกระจายอยู่ในมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วประเทศ ภายหลังจัดตั้ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมขึ้น

สดร. จึงริเริ่มจัดทำแผนบูรณาการวิจัยด้านคุณภาพอากาศ (Air Quality Research Programs) ของประเทศ และจัดตั้งภาคีความร่วมมือวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศแห่งประเทศไทย ระดมคณาจารย์ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญจาก 8 หน่วยงานภาครัฐ 20 มหาวิทยาลัย ร่วมวิจัยและส่งเสริมการทำวิจัยด้านวิทยาศาสตร์บรรยากาศ และคุณภาพอากาศของประเทศให้มีประสิทธิภาพ บูรณาการทรัพยากรทางการวิจัยทั้งที่อยู่ในมหาวิทยาลัย และหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมกัน เพื่อให้การทำวิจัยสามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาเร่งด่วนของรัฐบาลได้อย่างชัดเจน และมีประสิทธิภาพ

โดยทุกภาคส่วนที่เข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายฯ ล้วนเห็นตรงกันว่า ประเทศไทยควรมีศูนย์วิจัยศึกษาด้านนี้โดยเฉพาะ ซึ่ง สดร. พร้อมสนับสนุนห้องปฏิบัติการ และเป็นแกนนำวางแนวทางงานวิจัยด้านคุณภาพอากาศ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) โดยจะอาศัยข้อคิดเห็น ข้อแนะนำจากหน่วยงานต่าง ๆ นำมาวางแผนการทำงานวิจัยในช่วงระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า เมื่อหารือปรับแผนร่วมกันแล้ว จะนำแนวทางงานวิจัยดังกล่าวเสนอไปยังกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมต่อไป

งานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทร. 053-121268-9 ต่อ 210-211 , 081-8854353 โทรสาร 053-121250

ร่วมแสดงความคิดเห็น