องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ตรวจเยี่ยมและติดตามงาน ในพื้นที่ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย

วันนี้ 20 กพ.63 องคมนตรี พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เดินทางไปตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานในพื้นที่ของมูลนิธิโครงการหลวงเป็นวันที่สอง โดยในวันแรกได้เดินทางตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะเรียง บ้านอมพาย ต.ป่าแป๋ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน และวันที่สองได้ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย ต.บ้านดง อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน

โดยเมื่อปี พ.ศ.2514 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชนนีพันปีหลวง เสด็จเยี่ยมราษฎรชาวเขา บ้านห้วยห้อม กิ่งอำเภอแม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งสภาพพื้นที่แห่งนี้มีการตัดไม้ทำลายป่า ปลูกฝิ่นเป็นพื้นที่กว้าง ได้ทอดพระเนตรแหล่งน้ำ แปลงผัก และแกะที่ราษฎรเลี้ยงไว้ ต่อมาได้เสด็จพระราชดำเนินไปที่บ้านห้วยห้อมอีก 2 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2519 และ พ.ศ.2521 พระราชทานสิ่งของ พ่อพันธุ์แกะต่างประเทศเพื่อใช้ผสมพันธุ์กับแกะพื้นเมืองแก่ราษฎร จนกระทั่งการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเป็นครั้งที่ 4 ในปี พ.ศ. 2522 มีพระราชกระแสรับสั่งให้มูลนิธิโครงการหลวง เข้ามาดำเนินงานพัฒนาอาชีพ และจัดตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อยขึ้น ในปี พ.ศ.2523 และในปี พ.ศ.2535 ได้มีการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมอีกครั้ง ทอดพระเนตรแปลงปลูกผักของชาวเขาเผ่าละว้า ซึ่งมีการปลูกซ้ำๆ จนดินเสื่อมสภาพ จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้โครงการหลวงนำหญ้าแฝกไปส่งเสริมเกษตรกรปลูกตามแนวคันดินเพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดิน

ปัจจุบันศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย มีขอบเขตพื้นที่รับผิดชอบ 27,842.49 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ พื้นที่สำหรับทำการเกษตร ที่อยู่อาศัย และแหล่งน้ำตามธรรมชาติ หมู่บ้านส่งเสริม 5 หมู่บ้าน 9 หย่อมบ้าน ประชากร 764 ครัวเรือน 3,345 ราย เป็นชนเผ่าปกาเกอญอและชนเผ่าละว้า นับถือศาสนา พุทธ และคริสต์ ศูนย์ฯ แม่ลาน้อยมุ่ง ลดการบุกรุกที่ดินเนื่องจากการย้ายที่ทำกินเน้นส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน ด้านเศรษฐกิจ ขณะนี้ได้จัดทำแปลงสาธิตการผลิตพืชที่จะผลักดันให้เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญในพื้นที่ ได้แก่ อาโวคาโด กาแฟอราบิก้า องุ่น และยังมีงานส่งเสริมเกษตรทั่วไป ประกอบด้วย พืชผัก ไม้ผล กาแฟ พืชไร่ และเลี้ยงสัตว์ ซึ่งผลิตภายใต้มาตรฐานอาหารปลอดภัย มีเกษตรกรที่ได้รับรองมาตรฐาน 473 ราย ซึ่งมีผลผลิตได้แก่ เบบี้ฮ่องเต้ เบบี้คอสโอ๊คลีฟแดง โอ๊คลีฟเขียว คะน้าฮ่องกง พริกแม๊กซิกัน ผักกาดขาวปลี มะเขือม่วงก้านเขียว อาโวคาโด เสาวรส เคพกูสเบอร์รี กาแฟอราบิก้า ถั่วแดงหลวง ข้าวไร่ ข้าวนา นอกจากนี้ยังเสริมสร้างอาชีพ ได้แก่ การอนุรักษ์งานหัตถกรรมชนเผ่า ประกอบด้วย กลุ่มทอผ้าขนแกะบ้านห้วยห้อม กลุ่มผ้าฝ้ายทอมือละว้าบ้านดง กลุ่มทอผ้ากะเหรี่ยงบ้านห้วยห้า บ้านห้วยผึ้ง กลุ่มตีเครื่องเงินโบราณบ้านละอูบ ส่งเสริมการแปรรูปกาแฟคั่วบดจำหน่ายในชุมชน ด้านสังคม ดำเนินโครงการหมู่บ้านสะอาด หมู่บ้านปลอดยาเสพติด พัฒนายุวเกษตรกรโครงการหลวง มุ่งเน้นให้เยาวชนรุ่นใหม่รักการเรียนรู้ และนำความรู้กลับมาพัฒนาบ้านเกิด ด้านสิ่งแวดล้อม รณรงค์และส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตปุ๋ยหมัก ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ ควบคู่กับการปลูกป่าชาวบ้านและปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดิน และที่สำคัญคือ การดำเนินการโครงการพัฒนาชุมชนโครงการหลวงเพื่อเป็นชุมชนคาร์บอนต่ำและยั่งยืน

องคมนตรี ได้มอบแนวทางการส่งเสริมพืชแก่เกษตรกร ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งเป็นแนวทางพระราชทานหรือศาสตร์พระราชาในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทำให้การส่งเสริมพืชเขตหนาวของโครงการหลวงเกิดผลสำเร็จ เป็นแบบอย่างให้ส่วนราชการนำไปใช้ขยายผลในพื้นที่ต่างๆ ทุกวันนี้ชาวบ้านในพื้นที่จึงมีอาชีพสุจริต มีผลิตผลผลไม้เมืองหนาวคุณภาพดี ปลอดภัยนานาชนิดรับประทานกัน และส่งเสริมการเลี้ยงปลาน้ำจืดเพื่อเป็นแหล่งอาหารของชุมชน ดำเนินการโครงการปล่อยสัตว์น้ำสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อเพิ่มความสมดุลของระบบนิเวศน์โดยหน่วยประมงในพื้นที่ รวมทั้งหน่วยปศุสัตว์จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีโครงการส่งเสริมการเลี้ยงไก่แม่ฮ่องสอน เพื่อเป็นแหล่งอาหารโปรตีน

ร่วมแสดงความคิดเห็น