รูปแบบของ “หอไตรในล้านนา”

เมื่อเอ่ยถึงคำว่า “หอไตร” ในความหมายรวมเรามักปิดตาเห็นภาพอาคารไม้ขนาดจิ๋วชั้นเดียว มีเสาสูง เปิดใต้ถุนโล่ง ตั้งอย่างโดดเดี่ยวอยู่กลางสระน้ำ ไม่มีสะพานเชื่อม ไม่มีบันไดทางขึ้น ซึ่งรูปแบบดังกล่าวเป็นลักษณะของหอไตรมาตราฐานที่พบได้ทั่วไปในแถบภาคกลางของประเทศไทย

อันคติการทำ หอไตรกลางสระน้ำ นี้มีกุศโลบายเพื่อใช้ป้องกันมด ปลวก แมลง มิให้มาแทะกัดกินพระคัมภีร์ อีกทั้งยังเป็นการหลีกเลี่ยงอัคคีภัยไปด้วยในตัว สาเหตุที่ต้องแยกหอไตรออกมาจากกลุ่มอาคารอื่น ๆ ที่สร้างบนบกด้วยความหวาดระแวงเช่นนี้ ก็เพราะว่าในสมัยโบราณคัมภีร์พระไตรปิฏกนั้น มักจารึกลงใบลาน ดังที่เรียกว่า “คัมภีร์ใบลาน” ในขณะที่หอไตรแถบล้านนาหรือชาวล้านนาเรียกว่า “หอธรรม” นั้นกลับมีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่ผิดแผกไปจากหอไตรในภาคกลางโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากคติความเชื่อที่แตกต่างกันไปของแต่ละภาคนั่นเอง

เอกลักษณ์ของหอไตรในล้านนา คือ การสร้างอาคารด้วยหอสูงสองชั้น บนแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ชั้นล่างทำเป็นห้องทึบก่ออิฐถือปูน ไม่มีบันไดทางขึ้นสู่ชั้นบน ทั้งภายนอกและภายใน ส่วนชั้นบนนิยมทำด้วยเครื่องไม้แกะสลัก เวลาจะหยิบพระคัมภีร์ไปใช้ จะต้องนำบันไดพิเศษมาพาดแล้วปีนเข้าไปทางช่องประตูแคบ ๆ ลักษณะการทำหอไตรทรงสูงเพรียวเช่นนี้ เนื่องมาจากคติความเชื่อที่ว่า คัมภีร์พระไตรปิฏกเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ควรค่าแก่การเคารพบูชา ดังนั้นจึงต้องเก็บไว้ในที่สูง เวลาจะหยิบพระคัมภีร์ไปใช้จะต้องเทินแบกเหนือบ่า ห้ามถือในระดับต่ำ จึงจำเป็นต้องเก็บไว้ให้มิดชิด มิให้บุคคลภายนอกเข้าไปหยิบฉวยได้ง่าย

หอไตรจำพวกหอสูงนี้ จัดว่ามีอายุเก่าแก่ที่สุดในบรรดาหอไตรทุกประเภทของล้านนา กล่าวคือสร้างขึ้นตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 ตรงกับสมัยของพระเจ้าติโลกราช ผู้ทรงกระทำการสังคายนาพระไตรปิฏกขึ้นเป็นครั้งแรกบนผืนแผ่นดินไทย ในปี พ.ศ. 2020 ตัวอย่างของหอไตรชิ้นเอก ได้แก่ หอไตรวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่, หอไตรวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร, หอไตรวัดช่างฆ้อง จังหวัดลำพูน และหอไตรวัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง เป็นต้น

หอไตรแบบที่สอง คือ กลุ่มที่มีอายุเก่าแก่รองลงมาจากหอไตรแบบแรก คือ ราวพุทธศตวรรษที่ 24 เป็นต้นมา ได้แก่ กลุ่มที่รับเอาวัฒนธรรมการทำหอไตรด้วยเรือนไม้ชั้นเดียวกลางสระน้ำ ของภาคกลางมาใช้ เพียงแต่ว่ามีการผสมผสานเอามาตกแต่งประดับประดาตัวหน้าบัน ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ คันทวย ด้วยลวดลายและเทคนิคแบบล้านนามาประยุกต์ หอไตรแบบที่สองนี้หลงเหลืออยู่ไม่มากนัก และน่าเสียดายอย่างยิ่งที่ในปัจจุบันได้มีการขุดกลบสระน้ำจนไม่เหลือร่องรอย หรือไม่ก็มีการสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเชื่อมจากฝั่งถนนไปสู่ตัวอาคารไม้หมดแล้วทุกหลัง ตัวอย่างหอไตรกลุ่มนี้ ได้แก่ หอไตรวัดป่าเหียงและหอไตรวัดสันกำแพง จังหวัดลำพูน

หอไตรกลุ่มสุดท้ายเป็นรูปแบบพิเศษ มักเป็นหอไตรรุ่นใหม่ มีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 25 เป็นต้นมา มีลักษณะที่หลากหลาย อย่างไรก็ดีพอจะมองเห็นลักษณะร่วมบางประการได้เด่นชัด นั่นก็คือ มักจัดวางอยู่บนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส บางก็ทำเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนชั้นเดียว มองเผิน ๆ แล้วคล้ายกับอุโบสถขนาดเล็ก บ้างก็ทำเป็นอาคารสองชั้นเปิดใต้ถุนโล่งตอนล่าง ชั้นบนทำเป็นจตุรมุขมีระเบียงล้อมทั้งสี่ด้าน โดยมากทำหลังคาด้วยทรงมณฑปซ้อนเป็นชั้น ๆ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากศิลปพม่าสกุลอังวะ ตัวอย่างเช่น หอไตรวัดศรีบุญโยงและวัดพระแก้วดอนเต้า จังหวัดลำปาง, หอไตรวัดฉางข้าวน้อย วัดสันดอนรอม และวัดมหาวัน จังหวัดลำพูน เป็นต้น

มีสิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง ของหอไตรในล้านนาก็คือ การประดับตกแต่งผนังอาคารด้านนอกด้วยลวดลายปูนปั้น ไม้แกะสลักและลายรดน้ำ ปิดทองล่องชาด ที่ปรากฏอย่างโดดเด่นบนหอไตรทั้งสามรูปแบบ ลวดลายที่ใช้ประกอบหอไตรสามารถจำแนกออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
– กลุ่มเทวดายืนพนมกรถือดอกบัว เป็นลักษณะของผู้พิทักษ์ปกป้องศาสนสถาน
– กลุ่มลายหม้อดอก เป็นลักษระของแจกันดอกไม้ที่ใช้บูชาตามหิ้งพระ
– กลุ่มสัตว์หิมพานต์ โดยเฉพาะ สิงห์ หรือราชสีห์ เป็นสัญลักษณ์ของราชสกุลศรีศากยวงศ์ของพระพุทธเจ้า

เนื่องจากในปัจจุบันเป็นยุคสมัยที่สามารถพิมพ์หนังสือพระไตรปิฏกเป็นรูปเล่มเรื่อยมา จนกระทั่งถึงการเก็บข้อมูลจำนวนมหาศาลลงในแผ่นดิสก์ ทำให้แทบไม่มีความจำเป็นต้องสิ้นเปลืองพื้นที่เฉพาะเป็นสัดส่วนสำหรับเก็บ คัมภีร์ใบลาน จำนวนหลายพันผูกดังเช่นในอดีต ดังนั้นวัดสมัยใหม่จึงนิยมเก็บหนังสือพระไตรปิฏกไว้ในตู้กระจก ฝากไว้ในกุฏิเจ้าอาวาส หรือไม่ก็ในพระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาอเนกประสงค์ แทนที่การสร้างหอไตร หอไตรในทุกวันนี้ จึงถูกลดทอนบทบาทลงเหลือเพียงแค่การคงไว้ ซึ่งหลักฐานทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมหลังโดดเดี่ยว ทว่าความวิจิตรบรรจงนั้นกลับประเมินคุณค่ามิได้

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น