วัดโบราณเมืองเชียงใหม่บนถนนท่าแพ ที่สร้างโดยกษัตริย์ราชวงศ์มังรายกว่า 700 ปี

วัดโบราณที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่ ซึ่งสร้างขึ้นโดยกษัตริย์ราชวงศ์มังราย ที่ตั้งอยู่บนถนนท่าแพเป็นวัดที่มีความเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่มาช้านาน บางวัดมีอายุมากกว่า 700 ปี ได้แก่ วัดแสนฝาง ตำนานกล่าวว่าสร้างในสมัยพญาแสนภู กษัตริย์ราชวงศ์มังราย เดิมชื่อ วัดแสนฝัง คำว่าแสนฝัง สันนิษฐานว่าอาจมาจาก การที่พญาแสนภูทรงมีพระประสงค์จะฝากฝังขุมพระราชทรัพย์ของพระองค์ไว้ในพระพุทธศาสนา ตามเยี่ยงพระเจ้าปู่และพระราชบิดา จึงดำริให้กำหนดสถานที่แห่งหนึ่งทางฝั่งทิศตะวันออกใกล้แม่น้ำข่าและแม่ระมิงค์พอประมาณ และโปรดให้สร้างวัดแห่งหนึ่ง โดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์บริจาคในพระพุทธศาสนา

สถาปัตยกรรมประกอบด้วย หอไตรกลางน้ำหลังเก่า สร้างเมื่อ พ.ศ. 2412 ซุ้มประตูมงคลแสนมหาไชย สร้างเมื่อ พ.ศ. 2418 เดิมเป็นไม้ ที่มุมกำแพงด้านตะวันออกมีหอคอยสูงเด่นทั้ง 2 มุม คือ มุมด้านเหนือและใต้สำหรับเป็นที่อยู่เวรยามของทหารในสมัยโบราณ วิหาร จากหลักฐานปรากฏว่าเมื่อ พ.ศ. 2420 พระเจ้าอินทวิชยานนท์และเจ้าทิพเกสรราชเทวี ได้โปรดให้รื้อพระตำหนักที่ประทับของพระเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์มาปรับปรุงดัดแปลงสร้างเป็นวิหารลายคำ วิหารนี้เป็นทรงล้านนาไทยหลังคาเตี้ยและลาดต่ำ ประดับด้วยลวดลายไม้แกะสลักและปูนปั้นปิดทอง สำหรับเจดีย์ทรงพม่านั้น หลักฐานกล่าวว่า พระครูบาโสภาโณเถระ ได้บูรณะสร้างเสริมเจดีย์ทำเป็นแบบพม่า กุฏิเจ้าอาวาส สร้างสมัยพระครูบาโสภาเถิ้ม และรองอำมาตย์เอกหลวงโยนการพิจิตร สร้างปี พ.ศ. 2431 พระอุโบสถ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2453 ลักษณะรูปทรงเป็นสองชั้น ชั้นล่างก่ออิฐถือปูนชั้นบนเป็นโครงสร้างไม้ หอไตรหลังใหม่ อยู่ด้านทางทิศตะวันตกของพระเจดีย์ ท่านอธิการศรีหมื่น นุนทวโร เจ้าอาวาสขณะนั้นไว้ริเริ่มสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2488

วัดบุพพาราม เป็นวัดคู่เมืองเชียงใหม่ พระเมืองแก้ว กษัตริย์ราชวงศ์มังราย โปรดให้สร้างราวปี พ.ศ. 2039 ในบริเวณที่เป็นราชอุทยานของพระเจ้าติโลกราช เมื่อนครเชียงใหม่ฟื้นฟูบ้านเมือง เจ้าหลวงเชียงใหม่และอาณาประชาราษฎร์ได้บูรณะวัดให้เจริญรุ่งเรืองสืบมา ปี พ.ศ. 2362 เจ้าหลวงธรรมลังกา โปรดให้สร้างวิหารหลังเล็ก เครื่องไม้ศิลปล้านนา ส่วนวิหารหลังใหญ่พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์โปรดให้สร้าง กระทั่งปี พ.ศ. 2539 มีการสร้างหอมณเฑียรธรรม เพื่อถวายเป็นราชกุศลในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงครองราชย์ครบ 50 ปี ด้านหลังวิหารยังมีเจดีย์ทรงพม่าอีกหลังหนึ่งที่ควรค่าแก่การชมอย่างยิ่ง

วัดเชตวัน สันนิษฐานว่าสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2446 สร้างขึ้นสมัยราชวงศ์มังราย มีนามเหมือนกับวัดเชตวันที่มีในประเทศอินเดีย สถาปัตยกรรมประกอบด้วย อุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ วิหาร เจดีย์ 3 องค์ และพระพุทธรูปปูนปั้นศิลปะพม่า พระพุทธรูปเชียงแสนทองเหลืองประทับนั่งขัดสมาธิเพชร

วัดมหาวัน ตามความหมายของชื่อแปลว่า ป่าไม้ใหญ่ สถาปัตยกรรมประกอบด้วย เจดีย์แบบพม่า องค์ระฆังประดับลวดลายปูนปั้น ฐานสี่เหลี่ยมย่อมมุมประดับลวดลาย มีซุ้มประจำทิศทั้งสี่ทิศ วิหารทรงพื้นเมืองสร้างราว พ.ศ. 2410 และได้ทำการบูรณะซ่อมแซมในปี พ.ศ. 2526 วิหารแบบพม่า อุโบสถทรงพื้นเมืองล้านนา หอไตรสองชั้นเครื่องบนไม้มีหลังคาซ้อนชั้นมีการแกะสลักและลวดลายฉลุสวยงาม

สำหรับนักท่องเที่ยวและผู้ที่ชื่นชอบการเที่ยวชมวัด หากมีโอกาสลองแวะเข้าไปชมศิลปกรรมล้านนาผสมพม่าได้ที่วัดสำคัญ ๆ บนถนนท่าแพ เพื่อย้อนอดีตแห่งถนนสายการค้าของเมืองเชียงใหม่

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น