พาไปดูประเพณี “แห่ลูกแก้วล้านนา” ในอดีต

การแห่ลูกแก้วเป็นเป็นประเพณีของชาวล้านนา ที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน การแห่ลูกแก้วเป็นการแห่เด็กชาย ซึ่งจะบรรพชาเป็นสามเณรในพุทธศาสนา ส่วนมากอายุไม่เกิน 15 ปี ถือปฏิบัติทุกปีในช่วงระหว่างเดือน 6 – 8 เหนือ (มีนาคม – พฤษภาคม) ก่อนจะถึงวันบรรพชา 1 วัน พ่อแม่ผู้ปกครองจะนำเด็กเข้าพิธีบรรพชาไปแต่งองค์ทรงเครื่องที่วัด ประดับประดาด้วยอาภรณ์อย่างสวยงามแล้วขึ้นขี่บนหลังม้า บางพื้นที่อาจขี่คอผู้ใหญ่ แห่ไปตามบ้านญาติพี่น้องเป็นการแจ้งให้ทราบว่า ลูกแก้วจะเข้าบรรพชาเป็นสามเณรถือเป็นการบอกบุญไปในตัวด้วย
ในอดีตการจัดงานบุญแห่ลูกแก้ว หรือ “ปอยบวช” หรือ “ปอยน้อย” ในภาษาล้านนาก็เพื่อให้ลูกศิษย์วัดหรือ “ขะโยม” ที่คอยรับใช้ทำงานในวัดเป็นเวลาพอสมควร และได้เรียนจบการศึกษาภาคบังคับแล้ว ทางวัดและญาติพี่น้องก็จะร่วมกันเป็นเจ้าภาพพิธีบรรพชา ให้เป็นสามเณรในพระพุทธศาสนาเมื่อกำหนดวันเป็นที่แน่นอนแล้ว พ่อแม่ญาติพี่น้องก็จะจัดหาเครื่องอัฏฐบริขารสำหรับสามเณรบวชใหม่ โดยมีผ้าสะบง 1 ผืน จีวร 1 ผืน อังสะ 1 ผืน ผ้ารัดเอว บาตร ลูกประคำ ดอกไม้ธูปเทียนจัดทำเป็นกระทง หรือทำเป็นช่อใส่ลงไปในพานสำหรับการขอบรรพชา 1 กระทง

นอกจากนั้นยังมีกระทงสำหรับการขอศีล 1 กระทงและกระทงสำหรับขออุปัชฌายะอีก 1 กระทง สำหรับครอบครัวในที่ไม่มีเงินพอ ก็จะใช้วิธีเรี่ยไรเงินจากญาติพี่น้องหรือผู้ที่พอมีฐานะในหมู่บ้านของตน ให้ช่วยบริจาคคนละชิ้นสองชิ้น เจ้าภาพงานบวชแต่ละคน จะมีพิมพ์บัตรเชิญไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ ที่ญาติพี่น้องไปอาศัยอยู่ให้มาร่วมทำบุญ
ส่วนสามเณรที่เตรียมจะเข้าบวช จะต้องมีการฝึกท่องคำขอบวชให้ได้ในระหว่างที่ยังเป็นขะโยม ในสมัยโบราณจะต้องสามารถอ่านอักขระภาษาพื้นเมืองได้ เมื่อบวชเรียนแล้วก็ต้องอ่านตัวหนังสือในพระธรรมคัมภีร์ต่าง ๆ ได้รวมทั้งท่องบทสวดมนต์ทำวัตร ฝึกกิริยาท่าทางการกราบไหว้เมื่ออยู่ในสมณเพศ

ก่อนถึงวันงานจะมีการแอ่วผ้าอุ้ม คือ นำเอาเครื่องใช้ของสงฆ์ที่ซื้อมาแล้วนั้น ใส่บนพานให้คนอุ้มและมีคนกางสัปทานจัดเป็นขบวน ตีฆ้องร้องป่าวไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในระแวกใกล้เคียงเพื่อประกาศงานบุญด้วย เมื่อถึงวันงาน เจ้าภาพจะไปพร้อมกันที่วัด นำเด็กชายที่จะเข้าบวชมาแต่งองค์ทรงเครื่องสมมุติ ให้เหมือนอย่างเจ้าสิทธาตถ์ หรือเจ้าชายสิทธัตถะ ยามจะออกบวช มีเครื่องทรงที่สวยงามลูบไล้ด้วยน้ำอบ น้ำหอม ทางแป้ง แต่งตัวเต็มที่ คนล้านนาจึงเรียกว่า “ลูกแก้ว”
จากนั้นจะให้ชายฉกรรจ์ที่แข็งแรง ทำหน้าที่เป็นม้ากัณฐัก หรือ ม้ากัณฐกะ ให้ลูกแก้วได้ขึ้นขี่คอ บางคนอาจจะใช้ม้าจริงหรืออาจใช้ช้างเข้ามาแทนก็ได้ ขบวนลูกแก้วจะแห่ไปรอบ ๆ หมู่บ้าน และจะขึ้นไปบนบ้านผู้ที่มีอาวุโสของหมู่บ้านเพื่อให้ผูกข้อมือ ขอศีลขอพร หลังจากนั้นขบวนลูกแก้วก็จะเดินทางกลับไปยังวัด เพื่อเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวของลูกแก้วเป็นนุ่งขาวห่มขาว เพื่อเข้าพิธีบวช

โดยมีพระอุปัชฌาย์ทำหน้าที่ผู้บวชให้ในงานบุญปอยน้อย หรือ ปอยบวชลูกแก้วนี้ จะมีมหรสพเฉลิมฉลอง เพื่อให้ความบันเทิงแก่ผู้มาร่วมงาน งานมหรสพจะใหญ่โตเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับฐานะของเจ้าภาพ ส่วนใหญ่จะนิยมดนตรีพื้นเมือง ซอ แต่ปัจจุบันได้มีการนำเอาดนตรีสตริงเข้ามาเล่น เพื่อให้ผู้มาร่วมงานได้สนุกสนานรื่นเริง
สำหรับเด็กวัด หรือ ขะโยมบางคนที่พ่อแม่ยากจนทางวัด และศรัทธาที่มีฐานะ ก็จะร่วมกันเป็นเจ้าภาพให้ เพราะชาวล้านนาถือว่าการบวชลูกแก้ว เป็นการทานอีกลักษณะหนึ่ง มีอานิสงส์มาก เพราะการได้ร่วมสร้างเนื้อนาบุญขึ้นในบวรพุทธศาสนา เป็นโอกาสการทานครั้งของคนในชุมชน ซึ่งอาจร่วมเป็นเจ้าภาพในการซื้อปัจจัยถวายหรือซื้อเครื่องอัฏฐบริขาร หรืออาจร่วมเป็นเจ้าภาพในการเลี้ยงภัตตาหารแด่พระสงฆ์ หรืออาจร่วมบริจาคทรัพย์ ปัจจัยเล็ก ๆ น้อย ๆ ตามศรัทธา นับเป็นโอกาสในการทำบุญที่เอื้ออานิสงส์หลายรูปแบบ ตามแต่กำลังศรัทธาของผู้ถวายทาน

ปัจจุบัน ประเพณีแห่ลูกแก้ว มีการพัฒนาไปเป็นประเพณีบวชเณรภาคฤดูร้อนแทน ซึ่งตามหัววัดต่าง ๆ ได้จัดขึ้นเป็นพิธีบวชเณรแบบง่าย ๆ จึงทำให้ประเพณีแห่ลูกแก้วในอดีตที่งดงามยิ่งใหญ่ แทบจะหมดไปจากสังคมของคนเมืองล้านนา
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น