พยาบาล ม.สงขลานครินทร์ เน้นเตรียมบัณฑิตเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพทั้งในภาคใต้และระดับโลก

รศ.ดร.นงนุช บุญยัง คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า คณะพยาบาลศาสตร์เป็นอีกหนึ่งคณะวิชาในประเทศไทย ที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติในด้านวิชาการพยาบาล โดยมีเครือข่ายสถาบันต่างประเทศที่เข้มแข็ง และมีศิษย์เก่าที่กลับไปทำงาน และมีความเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพนี้ในประเทศของตน เช่น  อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, จีน, ภูฏาน และปากีสถาน เป็นต้น ซึ่งนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน มีความต่อเนื่องในการทำวิจัย จัดประชุมวิชาการร่วมกัน รวมทั้งมีส่วนแนะนำผู้สนใจในวิชาชีพพยาบาลจากประเทศนั้น ๆ ให้มาศึกษาต่อที่คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กำลังสานต่อความร่วมมือไปยังประเทศอื่น ๆ เช่น เซอร์เบียและญี่ปุ่น เป็นต้น

ปัจจุบันคณะพยาบาลศาสตร์ ได้มีการขยายโอกาสทางการศึกษา ให้กับประเทศที่เราสามารถช่วยเหลือได้ เช่น การจัดตั้ง PSU Extension Center ซึ่งเป็นการเรียนทางไกลที่ผู้เรียนในประเทศอินโดนีเซีย สามารถเรียนและประกอบอาชีพอยู่ในประเทศของตน โดยมานำเสนอและเปลี่ยนเรียนรู้กับคณาจารย์และผู้ร่วมเรียนเป็นครั้งคราว และที่ผ่านมายังได้ใช้เทคโนโลยีการเรียนทางไกลดังกล่าว กับนักศึกษาจากประเทศจีน ที่ไม่สามารถเดินทางกลับมาเรียนที่คณะได้ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ทำให้เป็นที่ประทับใจกับผู้เรียนและนำไปเล่าต่อกัน จนทำให้มีนักศึกษาจีนจำนวนหนึ่งมีความสนใจ และติดต่อสอบถามเพื่อศึกษาโดยวิธีดังกล่าว
คณะพยาบาลศาสตร์ได้เปิดการเรียนการสอนมาเป็นปีที่ 47 โดยมุ่งผลิตบัณฑิตที่ได้รับการฝึกฝนให้คิดวิเคราะห์ เพื่อทำงานที่สามารถแก้ปัญหาสุขภาพ เพื่อตอบโจทย์สังคมในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ทั้งในพื้นที่ภาคใต้และระดับโลก โดยมีคณาจารย์ที่มีความพร้อมด้านทักษะวิชาการ มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักศึกษา โดยได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายต่าง ๆ ในการใช้เป็นสถานที่หลักในการฝึก เช่น โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โรงพยาบาลสงขลา โรงพยาบาลหาดใหญ่ และโรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์

ซึ่งนอกจากการเรียนการสอนแล้ว ยังเป็นสถาบันหลักในการบริการดูแลสุขภาพ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในภาคใต้ การจัดอบรม การเป็นที่ปรึกษาอย่างต่อเนื่อง มีการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมสุขภาพและฟื้นฟูสภาพผู้สูงอายุ ซึ่งมีบริการดูแลผู้สูงอายุด้วยความเข้าใจเอาใจใส่ มีรายวิชาสร้างเสริมสุขภาพที่ให้นักศึกษามาถอดบทเรียน เพื่อสร้างรูปแบบการจัดกิจกรรม และจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อดูแลเด็กเล็กตั้งแต่ 6 เดือนจนถึงก่อนเข้าเรียน ตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด มีพี่เลี้ยงที่ได้รับการอบรมอย่างสม่ำเสมอ เป็นแหล่งฝึกนักศึกษาในวิชาการดูแลเด็ก ให้ได้มีการเรียนรู้ร่วมกับผู้ปกครองในการดูพัฒนาการของเด็ก
“สำหรับการให้บริการเมื่อมีสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดมาก่อน เรามีการเตรียมความพร้อมด้านความรู้ ทักษะ สถานที่ เพื่อรองรับเหตุการณ์ทั้งในจังหวัดสงขลาและใกล้เคียง เช่น การเกิดภัยธรรมชาติ โรคระบาด โดยมีการนำบุคลากรและนักศึกษาออกไปช่วยเหลือ ให้ความรู้ คำแนะนำวิธีการปฏิบัติตนแก่ประชาชน มีการรับสถานการณ์ทั้งในเชิงการให้บริการ การกำหนดเป็นวิชาในหลักสูตรการเรียนการสอน มีความร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรต่าง ๆ ทั้งในภาคใต้ และหน่วยงานและผู้เชี่ยวชาญในระดับประเทศ เพื่อเติมเต็มองค์ความรู้และอุปกรณ์ ในการรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น” คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น