ไปดูศูนย์กลางแห่งพุทธศาสนาล้านช้าง ที่เมือง “หลวงพระบาง”

หลวงพระบางเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่สามารถเดินเที่ยวได้ในวันเดียว ทว่าในวันเดียวนั้น เราจึงสามารถพบเห็นเรื่องราวหลากหลายที่เก็บเกี่ยวเอาไว้ในลิ้นชักแห่งความทรงจำได้แทบไม่พอ หากใครไม่เชื่อลองมาเยือนเมืองหลวงพระบางดู เมืองเล็กแต่ไม่ธรรมดา หากแต่เป็นเมืองที่สะสมความรุ่งเรืองแห่งอดีตกาลไว้มากมาย
หลวงพระบาง หรือเชียงทอง เป็นเมืองหลวงเก่าของราชอาณาจักรลาวมาแต่ดึกดำบรรพ์ ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของลาวในระดับเส้นรุ้งเดียวกับจังหวัดเชียงราย ดังนั้นจึงมีอากาศที่เย็นสบาย บ้านเรือนปลูกติดกันเรียงไปตามแนวถนนสลับด้วยวัด ที่ว่ากันว่ามีมากชนิด “วัดชนวัด” เลยทีเดียว จะว่าไปคงคล้ายกับเมืองเชียงใหม่ของเรา แต่เป็นเชียงใหม่เมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว
หลวงพระบางนั้น มีชื่อเดิมว่า “เมืองซัว” อันหมายถึงดินแดนแห่งสรวงสรรค์ เป็นที่ประทับของพระอินทร์ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “เชียงดงเชียงทอง” เพราะเป็นดินแดนที่มีทองคำมาก กระทั่งในสมัยพระเจ้าฟ้างุ้มแหล่งหล้าธานี กษัตริย์ลาวองค์ที่ 24 แห่งอาณาจักรล้านช้าง ผู้ทรงสถาปนาพุทธศาสนาให้เป็นศาสนาประจำชาติ ได้ทรงอัญเชิญพระพุทธรูปปางห้ามญาติมาประดิษฐาน เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองล้านช้าง เรียกว่า “พระบาง” อันเป็นที่มาของการเรียกเมืองเชียงทองว่า “หลวงพระบาง”
เมื่อไปเยือนเมืองหลวงพระบางเราจะพบว่า พระพุทธศาสนา คือ แก่นประเพณีวิถีชีวิตของชาวลาวแห่งหลวงพระบาง จะเห็นได้ชัดเจนก็ตามท้องถนนในเมืองแทบทุกเส้น จะมีชาวบ้านออกมาทำบุญตักบาตร ว่ากันว่า บางคนต้องตื่นตั้งแต่ตีห้าเพื่อมารอใส่บาตรพระที่เดินเรียงรายมาตามถนนเป็นร้อย ๆ รูป ด้วยเหตุนี้วัดวาอารามในเมืองหลวงพระบาง จึงเป็นสถานที่สำคัญในฐานะศูนย์รวมของอารยธรรมล้านช้างมาแต่โบร่ำโบราณ จนเมืองแห่งนี้มีสมญาว่า “บ้านผา เมืองภู อู่อารยธรรมล้านช้าง”
ที่หลวงพระบางมีวัดวาอารามที่สวยงามด้วยเชิงชั้นศิลปะและสถาปัตยกรรม อันเป็นเอกลักษณ์เด่นของล้านช้าง เช่น วัดเชียงทอง ถือได้ว่าเป็นวัดที่สวยงามที่สุดในหลวงพระบาง วัดนี้มีผู้ให้ชื่อว่าเป็นอัญมณีแห่งสถาปัตยกรรมลาวโดยแท้ สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช (ระหว่างปี พ.ศ. 2101-2103) ภายในโบสถ์มีพระประธานองค์ใหญ่ลักษณ์งดงามตามแบบศิลปกรรมล้านช้าง ตามเสาและผนังโบสถ์เขียนลวดลายปิดทองบนพื้นรักสีดำ เป็นเรื่องราวในพุทธประวัติทศชาติชาดก ด้านข้างอุโบสถมีหอพระพุทธไสยานสน์เล็ก ๆ ทาพื้นผนังสีชมพู ประดับด้วยกระจกสีต่าง ๆ เป็นรูปคน รูปสัตว์ รูปต้นไม้ เป็นภาพเรื่องราวในตำนานพื้นบ้าน สุดยอดพุทธศิลป์สกุลช่างล้านช้างหลวงพระบาง สันนิษฐานว่าคงมีการทำขึ้นใหม่ เมื่อครั้งที่มีการซ่อมแซมวัดเชียงทอง ในปี พ.ศ. 2471
ในบริเวณวัดเชียงทองยังมีสิ่งที่น่าสนใจและศิลปกรรมล้านช้างที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง คือ โรงเก็บราชรถ ที่เคยใช้ในการอัญเชิญพระโกศของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ ซึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อ ปี พ.ศ. 2502 โรงราชรถได้รับการออกแบบตกแต่งลวดลายด้วยการแกะสลักอย่างสวยงาม โดยเพียตัน ช่างประจำพระราชวังหลวงพระบางที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ผนังด้านหน้า ตั้งแต่หน้าบันลงมาถึงพื้น สามารถถอดออกเพื่อเคลื่อนราชรถได้ ประตูด้านหน้าแกะสลักเรื่องราวรามเกียรติ์ บานหนึ่งเป็นรูปนางสีดาลุยไฟสีเหลืองอร่าม นับเป็นงานศิลปกรรมล้านช้างสมัยใหม่ที่ชาวหลวงพระบางภูมิใจ
นอกเขตวัดตามถนนเล็ก ๆ หลังวัดเชียงทอง ยังมีชุมชนบ้านเรือนที่น่าแวะเยี่ยม ตามถนนศรีสว่างวงศ์นั้นมีบ้านเรือนในแบบโคโรเนียลสไตล์ผสมผสานระหว่างอารยธรรมล้านช้างกับสถาปัตยกรรมฝรั่งเศส กลางเมืองหลวงพระบางมีภูเขาลูกย่อม ๆ ลูกหนึ่งชื่อ ภูศรี บนยอดประดิษฐาน พระธาตุจอมภูศรี องค์พระธาตุเป็นสีทองผ่องอำไพ ถึงแม้พระธาตุองค์นี้มีอายุไม่น่าเกินหนึ่งศตวรรษ แต่ความโดดเด่นอร่ามเรืองที่สถิตอยู่สูงส่งเหนือสิ่งอื่นใดในหลวงพระบาง
เมื่อลงจากเขาเข้าไปเดินเที่ยวในตัวเมือง ผู้คนส่วนใหญ่ยังใช้รถจักรยานเป็นพาหนะ ปัญหาเรื่องการจราจรติดขัดนั้นไม่ต้องพูดถึง มาหลวงพระบางต้องไปชมตลาดเช้า เพราะนอกจากจะได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของชาวลาวแท้ ๆ แล้ว ยังเป็นศูนย์รวมสินค้าของใช้ทุกชนิดทั้งจากไทย อินโดจีน ของป่าและสินค้าจากชาวบ้าน  ที่ตลาดแห่งนี้แม้จะไม่คึกคักวุ่นวายเท่าเชียงใหม่บ้านเรา แต่ก็คราคร่ำไปด้วยชาวลาวและชาวต่างประเทศเป็นจำนวนมาก
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น