ย้อมผ้าสีฟ้าจาก “คอคอเด๊าะ” ภูมิปัญญาของเผ่าปกาเกอะญอ

ผ้าทอ ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนล้านนา เราจะพบว่าในอดีตผู้หญิงชาวล้านนาส่วนใหญ่จะนิยมทอผ้าขึ้น เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นมรดกที่เกิดขึ้นผู้หญิงสาวชาวล้านนาโดยแท้ ผู้หญิงจะได้รับการฝึกฝนทอผ้าตั้งแต่เด็ก จนมีคำกล่าวว่า “ถ้าสาวคนไหนยังทอผ้าไม่เป็นก็ไม่สามารถมีครอบครัวได้”
ปัจจุบันผ้าทอได้มีพัฒนาการก้าวหน้าไปมาก จากที่เคยทอด้วยมือก็มีเครื่องจักรเข้ามาแทน ขณะเดียวกันเทคโนโลยีการย้อมผ้าก็เจริญรุดหน้าไปพร้อมกัน ทว่าเมื่อไม่นาน มีเอกสารงานวิจัยของอาจารย์รจนา ชื่นศิริกุลชัย อาจารย์ประจำภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพายัพ ซึ่งได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง การดำรงอยู่ขององค์ความรู้ ภูมิปัญญา การย้อมผ้าสีฟ้าจากคอคอเด๊าะ ของชนเผ่าปกาเกอะญอ จังหวัดแม่ฮ่องสอน
โดยอาจารย์รจนาได้ศึกษาการย้อมผ้าด้วยเมล็ดคอคอเด๊าะ ซึ่งให้สีฟ้าสดใส โดยชนเผ่าปวาเกอญอได้มีการถ่ายทอดภูมิปัญญาดั่งเดิมในการย้อมสีผ้ามานานหลายร้อยผี นอกจากนั้นยังไปสัมภาษณ์ผู้เฒ่าผู้แก่ถึงวิธีการย้อมและสกัดสีฟ้าธรรมชาติจากเมล็ดคอคอเด๊าะ

จากการศึกษาดังกล่าวทำให้พบว่า การสกัดสีมีหลายวิธีการขึ้นอยู่กับพืช และวิธีการของกลุ่มชนเผ่าต่าง ๆ ที่จะมีวิธีการที่แตกต่างกัน ซึ่งในที่นี้ขอนำเสนอวิธีการสกัดแบบดั้งเดิมของชนเผ่าปวาเกอญอ ซึ่งจะเป็นการสกัดโดยใช้น้ำเป็นตัวทำละลายทั้งน้ำร้อนและน้ำเย็นมีวิธีการสกัด ดังนี้
1. การสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ พืชที่นำมาสกัดสี สีบางชนิดต้องนำมาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ก่อนที่จะนำไปสกัดสีออกมาจะด้วยวิธีการใช้น้ำร้อนหรือน้ำเย็นเพื่อให้สีออกมาได้มาก
2. การหั่นเป็นชิ้น ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นส่วนของเปลือกนอกของลำต้นที่เราถากออกมาเป็นชิ้นใหญ่ แล้วนำมาหั่นเป็นชิ้นอีกทีหนึ่งแล้วนำไปแช่น้ำเย็นหรือนำไปต้มน้ำร้อน
3. การนำไปต้มน้ำร้อน พืชบางชนิดไม่ต้องนำมาสับหรือหั่นเพียงแต่เด็ดตรงส่วนใบ หรือส่วนอื่นนำมาต้มกับน้ำร้อน
4. การนำไปแช่น้ำเย็น นำพืชที่จะนำมาสกัดมาแช่กับน้ำเย็นทิ้งไว้ เพื่อให้สีออกมาระยะเวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมง หรือบางครั้งแช่ไว้หลายวัน ถึงจะได้สีย้อมตามต้องการ
5. การบีบ ขยำ คั้น วิธีการแบบนี้ใช้กับพืชที่ใช้เฉพาะส่วนของใบ ผลหรือเมล็ดที่นุ่มเท่านั้นบีบคั้นให้น้ำสีออกมา
6. การหมัก ส่วนใหญ่วิธีการนี้จะใช้เฉพาะส่วนที่เป็นผลหรือเมล็ดเท่านั้น หมักทิ้งไว้จนเน่า หรือมีกลิ่น เป็นเดือน ๆ แต่บางครั้งระยะเวลาของการหมักขึ้นอยู่กับผลและเมล็ดของพืชชนิดนั้น

ปัจจุบันสภาพสังคมแปรเปลี่ยนไป การดำเนินวิถีชีวิตก็ เปลี่ยนไปอย่างมาก พืชที่นำมาสกัดก็แตกต่างกันและหายาก เนื่องจากผืนป่าที่ลดน้อยลงไปแม้กระทั่งวิธีการสกัดสีก็ถูกปรับเปลี่ยนไป ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยมากขึ้น ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณเพิ่มขึ้น ซึ่งแท้จริงแล้วการสกัดสีโดยวิธีแบบดั้งเดิม ตามสภาพความเป็นอยู่มีขั้นตอนที่ง่าย ไม่มีการใช้สารเคมีเข้ามา ช่วยให้สีติดซึมซับกับเส้นฝ้าย สกัดจากเมล็ดอย่างเดียวแล้วนำมาย้อมสี ไม่สิ้นเปลืองงบประมาณ หลังจากที่สกัดสีได้แล้ว ยังมีการทดสอบความคงทนของสีฟ้าจากคอคอเด๊าะ
โดยการตรวจพินิจการทดสอบสี ตามประกาศสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มผช.) มีวิธีการทดสอบ 6 วิธี และในการทดสอบมีวัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้ในการทดสอบมีดังนี้ ผ้าที่ย้อมสีจากคอคอเด๊าะ, น้ำเย็น, น้ำอุ่น, สำลี, แอลกอฮอล์, ถัง, ขันน้ำ และวิธีการทดสอบแบบตรวจพินิจมี 6 วิธี คือ
วิธีที่ 1 นำผ้าตัวอย่างและใช้สำลีชุบน้ำเย็นถูไปมาบนผืนผ้า แล้วนำขึ้นมาตรวจพินิจถ้าสีติดสำลีแสดงว่ามีการตกสี
วิธีที่ 2 นำผ้าตัวอย่างใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์ถูไปมาบนผืนผ้าแล้ว นำขึ้นมาตรวจพินิจถ้าสีติดสำลีแสดงว่ามีการตกสี
วิธีที่ 3 นำผ้าตัวอย่างแช่ลงในน้ำเปล่านาน 15 นาที ที่อุณหภูมิปกติ แล้วนำขึ้นมาตรวจพินิจถ้าน้ำมีสีแสดงว่ามีการตกสี
วิธีที่ 4 นำผ้าตัวอย่างแช่ลงในน้ำอุ่นนาน 15 นาที แล้วนำขึ้นมาตรวจพินิจถ้าน้ำเปลี่ยนสีแสดงว่ามีการตกสี
วิธีที่ 5 นำตัวอย่างผ้าไปซัก กับน้ำยาซักผ้า แล้วนำขึ้นมาตรวจพินิจถ้าซักแล้วน้ำเปลี่ยนสีมากแสดงว่ามีการตกสี แต่ถ้าซักแล้วน้ำมีการเปลี่ยนสีเล็กน้อยจาง ๆ ถือว่าไม่ตกสี
วิธีที่ 6 นำตัวอย่างผ้าไปตากแดดที่มีแดดจัดทิ้งไว้ อย่างน้อย 3 ชั่วโมงแล้วนำขึ้นมาตรวจพินิจถ้าพบว่าผ้าสีซีดจางกว่าเดิมแสดงว่าไม่มีความคงทนต่อแสง

การทดสอบความคงทนของสีย้อมธรรมชาติสีฟ้าจากคอคอเด๊าะแบบตรวจพินิจทั้ง 6 วิธีพบว่าสีย้อมธรรมชาติสีฟ้า จากคอคอเด๊าะมีความคงทนต่อการซัก การซีดสี การตกสีและมีการทนแสง นับว่าเป็นสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์เป็นอย่างมากต่อการวิจัยในครั้งนี้ แต่ผู้วิจัยคิดว่าควรนำเอาสีย้อมธรรมชาติสีฟ้าจากคอคอเด๊าะ นำไปทดสอบความคงทนของสีบนวัสดุสิ่งทอตามมาตรฐาน (Standard Test Method for Colour Fstness Testing On Textiles) ตามมาตรฐานสากล เช่น การทดสอบความคงทนของสีต่อเหงื่อ การทดสอบความคงทนของสีต่อการซักล้างบนวัสดุสิ่งทอ การทดสอบความคงทนของสีต่อน้ำ การทดสอบการเหลืองบนผืนผ้า ฯลฯ ซึ่งจะทำให้สีย้อมธรรมชาติสีฟ้าจากคอคอเด๊าะเป็นสีย้อมที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล
ผลการวิจัยครั้งนี้ ทำให้ทราบถึงการดำรงอยู่ขององค์ความรู้ ภูมิปัญญา การย้อมผ้าสีฟ้าจากคอคอเด๊าะ ของชนเผ่าปกาเกอญอ จังหวัดแม่ฮ่องสอน พบว่าการย้อมสีธรรมชาติ คือ การย้อมสีจากการสกัดสีย้อมจากวัตถุดิบธรรมชาติจากส่วนต่าง ๆของพืชและสัตว์ จากเปลือก ราก และใบไม้ หาได้ในป่า วิธีการสกัดสีย้อมคอคอเด๊าะใช้วิธีการหั่น การสับ การตำ และการหมัก และการย้อมใช้เวลา 1 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย ส่วนการทดสอบความคงทนของสีย้อมธรรมชาติสีฟ้าจากคอคอเด๊าะของชนเผ่าปกาเกอญอ จังหวัดแม่ฮ่องสอนใช้การทดสอบเอกลักษณ์ โดยการตรวจพินิจการทดสอบสี มีวิธีการทดสอบ 6 วิธี และผลการทดสอบสีย้อมธรรมชาติสีฟ้าจากคอคอเด๊าะ มีความคงทนต่อการซัก การซีดสี การตกสีและมีการทนแสง

นอกจากนั้นในงานวิจัย ยังได้กล่าวถึงข้อเสนอแนะไว้ว่า ควรมีการฝึกอบรมขยายผลการใช้สีย้อมจากคอคอเด๊าะ ให้กับชนเผ่าปกาเกอญอทั่วประเทศ หรือชนเผ่าอื่นที่ทำการย้อมสีเช่น ชนเผ่าอีก้อ ชนเผ่าม้ง และชนเผ่าเย้า เนื่องจากภูมิปัญญาทางด้านนี้ การย้อมสีด้วยคอคอเด๊าะนับวันจะสูญหายไปด้วยปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่การเพาะปลูกที่ลดลง ผลเมล็ดคอคอเด๊าะที่ปีหนึ่งจะให้ผลแค่ครั้งเดียว ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการย้อมผ้าด้วยเมล็ดคอคอเด๊าะขาดความต่อเนื่อง และสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปทำให้ชนเผ่ารุ่นหลัง หันไปนิยมการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสำเร็จตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ดังนั้นจึงควรอนุรักษ์ ฟื้นฟูวิถีชีวิตดั้งเดิมของตนเองและพัฒนาวีธีการย้อมสีให้แพร่หลายออกไปสู่ชนเผ่าต่าง ๆ ให้แพร่หลายต่อไป

อ้างอิง : งานวิจัยของ อ.รจนา ชื่นศิริกุลชัย อาจารย์ประจำภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพายัพ
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น