ศูนย์พัฒนาสตรีฯ ภาคเหนือ ผลิตหน้ากากอนามัย บูรณาการลดปัญหาสุขภาพ

ศูนย์พัฒนาสตรีฯ ภาคเหนือ ผลิตหน้ากากอนามัย บูรณาการลดปัญหาสุขภาพ จากหมอกควันไฟป่า ต้นเหตุของการก่อเกิดมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เป็นปัญหาสำคัญในพื้นที่จังหวัดทางภาคเหนือ ซึ่งได้เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงหน้าแล้ง และเป็นปัญหาที่ได้ส่งผลกระทบมากมาย โดยเฉพาะด้านสุขภาพของพี่น้องประชาชน โดยฝุ่น PM 2.5 ถือเป็นต้นเหตุในการบั่นทอนสุขภาพ ก่อให้เกิดโรคร้ายแรง ทั้งโรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด ภูมิแพ้ ปอด มะเร็ง หัวใจ โรคหลอดเลือดและสมอง

ซึ่งปัญหาดังกล่าว ทางหน่วยงานภาครัฐ ได้มีการกำหนดมาตรการต่าง ๆ นำออกมาใช้ เพื่อแก้ไขปัญหา และหนึ่งในนั้นคือ การรณรงค์ให้ประชาชนสวมใส่หน้ากากอนามัย หากมีความจำเป็นต้องปฏิบัติภารกิจนอกเคหะสถาน หรือที่โล่งแจ้ง แต่ด้วยหน้ากากอนามัยที่ส่วนใหญ่นำมาใช้ จะเป็นในลักษณะแบบใช้แล้วทิ้ง โดยถือว่าหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว เป็นขยะติดเชื้ออีกประเภทหนึ่ง ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องมีการกำจัดเก็บ และทิ้งอย่างถูกสุขลักษณะ เพื่อไม่ให้หน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม และสังคมส่วนรวมจากข้อจำกัดของหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้ง ได้นำไปสู่กระบวนการคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ด้วยการพัฒนารูปแบบหน้ากากอนามัย ให้สามารถซักล้างทำความสะอาดได้ เพื่อจะได้นำมาใช้ซ้ำได้หลาย ๆ ครั้ง ซึ่งศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคเหนือ จังหวัดลำปาง ได้เอาแนวคิดนี้นำถ่ายทอดแก่เยาวชนนักศึกษา สาขางานเสื้อผ้าแฟชั่น/แฟชั่นดีไซน์ ของสถาบัน โดย นางทิพวรรณ ฝั้นกันทา และนางพิรานันท์ วานเวียง ครูพี่เลี้ยงประจำสาขางานอาชีพ ได้ร่วมกับนักศึกษาที่อยู่ในความดูแล ช่วยกันออกแบบเศษผ้าและตัดเย็บ ทำเป็นผลิตภัณฑ์หน้ากากอนามัยชนิดแบบผ้า ที่สามารถซักล้างและนำกลับมาใช้ใหม่ได้โดยหน้ากากอนามัยที่ทางศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีฯ จัดทำขึ้น จะมีการใช้เศษผ้าถึงสามชนิดประกบเข้าด้วยกัน ทั้งผ้าฝ้ายชินมัย ผ้าสาลู ผ้าสักหลาด และด้วยความหลากหลายของกลุ่มนักศึกษาที่ทำการตัดเย็บ ซึ่งล้วนแต่เป็นเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์จากหลายชนเผ่า รวมกว่า 11 ชนเผ่า จึงทำให้หน้ากากอนามัยที่ผลิตได้บางส่วน จะมีความแตกต่างจากหน้ากากอนามัยทั่วไป เนื่องจากนักศึกษาได้ทำการปักลวดลายที่เป็นสัญลักษณ์ประจำชนเผ่าลงไปบนเนื้อผ้าด้วยและสำหรับหน้ากากอนามัย ที่ทางศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีฯ นำถ่ายทอดแก่เยาวชนนักศึกษา ถือเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนางานด้านการศึกษาของสถาบัน โดย น.ส. อุษณี กังวารจิตต์ อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ได้กล่าวถึงการผลิตหน้ากากอนามัยในครั้งนี้ ที่ถือได้ว่าเป็นประสบการณ์ใหม่ ซึ่งได้ช่วยให้การเรียนการสอนของศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีฯ มีความหลากหลายและเท่าทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งยังได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคม เฉพาะอย่างยิ่งในช่วงระยะนี้ที่จังหวัดลำปาง กำลังประสบปัญหาเรื่องหมอกควันไฟป่า และมลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ทำให้ประชาชนในพื้นที่ มีความต้องการใช้หน้ากากอนามัยเป็นจำนวนมากทั้งนี้ ในการผลิตหน้ากากอนามัยชนิดแบบผ้า ที่สามารถซักล้างและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ทางศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคเหนือจังหวัดลำปาง มีเป้าหมายที่จะทำการผลิตให้ได้ จำนวน 3,000 ชิ้น เพื่อนำแจกจ่ายให้กับประชาชนทั่วไป โดยจะเป็นส่วนหนึ่งในแผนงานบูรณาการด้านการป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ซึ่งจังหวัดลำปาง มีตัวชี้วัดในเรื่องของการลดปัญหาสุขภาพระบบทางเดินหายใจของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ที่ได้กำหนดไว้ให้ปี 2563 จังหวัดลำปาง ต้องมีผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจลดลงเหลือ ร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดในปีที่ผ่านมา

ร่วมแสดงความคิดเห็น