สทนช. เผยผลการจัดทำแผนหลักบริหาร จัดการทรัพยากรน้ำกลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่

2 มี.ค. 2563 นายวีระพันธ์ ดีอ่อน ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการ โครงการศึกษา เพื่อจัดทำแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ ณ ห้องเจนีวา โรงแรมเมอร์เคียว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งการประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลการศึกษาของโครงการ พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย คณะกรรมการลุ่มน้ำ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สื่อมวลชน และประชาชนในพื้นที่ ลุ่มน้ำสาละวิน โขงเหนือ ปิง และลุ่มน้ำวัง เข้าร่วมประชุมกว่า 100 คน

นายปรีชา สุขกล่ำ ที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สทนช. กล่าวว่า ผลจากการศึกษาที่ผ่านการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ว่า โครงการในแผนหลักกลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่มีทั้งหมด 13,747 โครงการ เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ 80 โครงการ สามารถบรรเทาพื้นที่ภัยแล้งได้ 2,155,000 ไร่ และสามารถบรรเทาปัญหาน้ำท่วมได้ 2,857,000 ไร่ อีกทั้งมีโครงการที่บรรจุในแผนหลัก 13,667 โครงการ ประกอบด้วยแผนด้านที่ 1 (การจัดการน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค) จำนวน 931 โครงการ แผนด้านที่ 2 (การสร้างความมั่นคงด้านการผลิต) จำนวน 2,871 โครงการ แผนด้านที่ 3 (การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย) จำนวน 985 โครงการ แผนด้านที่ 4 (การจัดการคุณภาพและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ) จำนวน 129 โครงการ แผนด้านที่ 5 (การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำฯ) จำนวน 8,654 โครงการ และแผนด้านที่ 6 (การบริหารจัดการ) จำนวน 97 โครงการ

แผนหลักทั้งหมดนี้แบ่งเป็นระยะเร่งด่วน (พ.ศ. 2564 – 2565) จำนวน 3,615 โครงการ ระยะสั้น (พ.ศ. 2566 – 2570) จำนวน 7,785 โครงการ ระยะปานกลาง (พ.ศ. 2571 – 2575) จำนวน 1,030 โครงการ และระยะยาว (พ.ศ. 2576 – 2580) จำนวน 1,237 โครงการ โดยโครงการที่อยู่ในระยะเร่งด่วนเป็นโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง จำนวน 653 โครงการ สามารถบรรเทาพื้นที่ภัยแล้งได้ 161,000 ไร่ เป็นโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม จำนวน 100 โครงการ สามารถบรรเทาพื้นที่น้ำท่วมได้ 194,000 ไร่

“ทั้งนี้ สทนช.จะนำแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ ให้คณะกรรมการลุ่มน้ำให้ความเห็น และจะนำเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติให้ความเห็นชอบ ตามลำดับ หากโครงการมีความพร้อมก็สามารถดำเนินการได้ทันที อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และปัญหาคุณภาพน้ำ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุดได้อย่างรวดเร็ว และตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง หวังให้เป็นต้นแบบ ต่อยอด ขยายผล ไปใช้เป็นทิศทางในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำอื่น ๆ ต่อไป” ที่ปรึกษาฯ สทนช. กล่าวในตอนท้าย

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น