สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ล่าสุดวันที่ 3 มี.ค. 2563

รายงานข่าวกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ประจำวันที่ 3 มีนาคม 2563
1. สถานการณ์ ถึงวันที่ 3 มีนาคม 2563 ณ เวลา 08.00 น.
1) ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรักษาในโรงพยาบาล 11 ราย กลับบ้านแล้ว 31 ราย เสียชีวิต 1 ราย รวมสะสม 43 ราย
2) ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม – 2 มีนาคม 2563 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 3,519 ราย คัดกรองจากทุกด่าน 95 ราย มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 3,394 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วและอยู่ระหว่างติดตามอาการ 2,099 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 1,420 ราย
3) สถานการณ์ทั่วโลกใน 73 ประเทศ 2 เขตบริหารพิเศษ ข้อมูลตั้งแต่ 5 มกราคม – 3 มีนาคม 2563 (07.00 น.) พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อจำนวน 90,216 ราย เสียชีวิต 3,080 ราย ส่วนประเทศจีนพบผู้ป่วย 80,026 ราย เสียชีวิต 2,912 ราย
2. สธ.เผยสถานการณ์โคโรนา 2019 ไทยอยู่อันดับที่ 15 ของโลก และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมรับผีน้อยกลับจากเกาหลีใต้

กระทรวงสาธารณสุขเผยสถานการณ์ไวรัสโคโรนา 2019 ไทยอยู่อันดับที่ 15 ของโลก และประสานข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การบูรณาการความร่วมมือการทำงานเตรียมแผนรองรับแรงงานไทยกลับจากเกาหลีใต้ นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า วันนี้ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรักษาในโรงพยาบาล 11 ราย กลับบ้านแล้ว 31 ราย เสียชีวิต 1 ราย รวมสะสม 43 ราย อาการหนัก 1 ราย ทำให้ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 15 ของโลก ขอความร่วมมือประชาชนชะลอไม่ให้ประเทศไทยเข้าสู่การแพร่ระบาดในวงกว้าง โรคนี้ป้องกันได้ด้วยการ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อย ใส่หน้ากากอนามัย ขอให้ทุกคนเตรียมพร้อมรับมือสู้ไปด้วยกัน รับผิดชอบต่อตัวเองและสังคมด้วยการป้องกันตัวเอง และการติดเชื้อและไม่เพิ่มโอกาสแพร่เชื้อให้คนอื่น หากตนเองเป็นกลุ่มเสี่ยง พร้อมตั้งสติรับรู้ข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้และนำไปปรับใช้ และสู้ไปด้วยกันเป็นปัญหาของทุกคน ต้องร่วมมือร่วมใจกัน ไม่โทษใคร เพราะโรคไวรัสโคโรนา 2019 เป็นเรื่องของทุกคน
ส่วนเรื่องแรงงานไทยในประเทศเกาหลีใต้นั้น กระทรวงสาธารณสุขกำลังประสานขอมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน กระทรวงคมนาคม สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และฝ่ายความมั่นคง เพื่อวางแผนร่วมกัน ทั้งนี้เป็นเรื่องระดับรัฐบาลที่ต้องมีการบูรณาการความร่วมมือ ในการจัดการปัญหานี้ ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขจะดูแลป้องกันการระบาด ดำเนินการตามหน้าที่และพร้อมที่จะดำเนินการตามข้อสั่งการต่อไป
กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศให้เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นเชื้อโรคที่ต้องควบคุมตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.บ.เชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ. 2558 กำหนดให้เป็นเชื้อโรคควบคุมในกลุ่มที่ 3 หากผู้ใดต้องการครอบครอง ต้องขออนุญาตเพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.เชื้อโรค

ในส่วนข้อกังวลของประชาชนเกี่ยวกับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทย และไม่ได้รับการกักตัวนั้น กระทรวงสาธารณสุขขอชี้แจง ดังนี้                                                                                 1. กลุ่มที่จำเป็นต้องแยกกักกันหรือสังเกตอาการ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ประกอบด้วย ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังสอบสวนโรค คือ มีอาการและประวัติมาจากพื้นที่ระบาด ต้องแยกกักอย่างเข้มงวดในโรงพยาบาล และกลุ่มที่ไม่มีอาการแต่เสี่ยงที่จะรับเชื้อจากผู้ป่วยหรือผู้สงสัยว่าป่วย (กลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง) ได้แก่ คนในครอบครัว เพื่อร่วมงาน เพื่อร่วมชั้นเรียน เพื่อนร่วมยานพาหนะ ต้องกักกันตนเองที่บ้าน (Self- quarantine at home) อย่างเคร่งครัด 14 วัน งดเที่ยว งดเรียน งดทำงาน แยกของใช้ หากมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ เจ้าหน้าที่จะรับตัวไว้ดูแลตามระบบ
2. กลุ่มไม่สัมผัสกับผู้ป่วย ไม่มีอาการ แต่มีความเสี่ยงเนื่องจากเดินทางจากพื้นที่ระบาด (ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ) ขอให้ลดกิจกรรมทางสังคม สวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกจากที่พัก หมั่นล้างมือ อย่าไปในพื้นที่ที่มีคนอยู่หนาแน่น ให้สังเกตอาการตัวเองที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน หากมีไข้ ไอ เจ็บคอ พบแพทย์ทันทีพร้อมแจ้งประวัติเดินทาง 3. ผู้ที่อยู่ในชุมชนเดียวกับผู้ป่วยและประชาชนทั่วไป ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข คือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัยเมื่อไปในที่ชุมชน
3. คำแนะนำสำหรับประชาชน
3.1 ประชาชนที่มีประวัติเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง หรือพื้นที่ที่มีการรายงานพบผู้ป่วย หลังเดินทางกลับประเทศไทยภายใน 14 วัน ถ้ามีอาการไข้ เจ็บคอ มีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น น้ำมูกไอ เสมหะ หายใจเร็ว หอบให้สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที พร้อมทั้งแจ้งประวัติการเดินทาง เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนปอดบวม และมีอาการรุนแรง ถึงขั้นเสียชีวิตได้
3.2 ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปต่างประเทศที่มีการระบาด และหากจำเป็นต้องเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาด ขอให้หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วย หลีกเลี่ยงไปตลาดค้าสัตว์มีชีวิต การสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดกับสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ที่ป่วย หรือตาย
3.3 ประชาชนทั่วไป ขอให้ดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศแปรปรวน ใช้มาตรการ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และสวมหน้ากากป้องกันโรค เวลาไอ จาม หลีกเลี่ยงอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการโรคระบบทางเดินหายใจ

ร่วมแสดงความคิดเห็น