สธ. รณรงค์ป้องกัน COVID-19 ลงพื้นที่หัวลำโพง แนะทำความสะอาดจุดเสี่ยงโบกี้รถไฟ

​13 มีนาคม 2563 ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการรณรงค์สื่อสารความรอบรู้ด้านสุขภาพ เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ณ สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) กรุงเทพมหานคร ว่า สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ยังคงแพร่กระจายไปหลายประเทศทั่วโลก จนทำให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้หลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยต้องมีมาตรการคุมเข้มการคัดกรอง เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งสื่อสารความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนมีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม โดยเฉพาะเมื่อต้องใช้บริการขนส่งสาธารณะที่มีผู้คนจำนวนมาก ต้องมีการป้องกันที่ตนเองที่ดี ซึ่งสถานีรถไฟกรุงเทพหรือหัวลำโพง ถือเป็นขนส่งสาธารณะที่เป็นแหล่งรวมของประชาชนจากทุกพื้นที่ทุกภาคของประเทศ จึงต้องเน้นย้ำความสำคัญในการเฝ้าระวังด้านสุขภาพให้กับผู้ใช้บริการ“กระทรวงสาธารณสุขลงพื้นที่หัวลำโพงในครั้งนี้ เพื่อรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนและ ผู้ที่ปฏิบัติงานภายในสถานีและโบ้กี้รถไฟให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องความสะอาด ปลอดภัย โดยเฉพาะจุดเสี่ยง ที่ต้องเน้นย้ำ แบ่งเป็นส่วนที่ 1 อาคารสถานีผู้โดยสาร และขบวนรถ ให้ปฏิบัติดังนี้ 1) ทำความสะอาดยานพาหนะ ทุกรอบที่ให้บริการหลังมีการให้บริการ เน้นการเช็ดทำความสะอาดที่มีการสัมผัสบ่อย ๆ เช่น ราวจับ ที่นั่ง กระจกภายในตู้โบกี้ เป็นต้น โดยทำความสะอาดด้วยน้ำผงซักฟอกหรือน้ำยาทำความสะอาดทั่วไป 2) กรณีที่มีตู้นอนและมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวก เช่น ผ้าห่ม ปลอกหมอน ต้องเปลี่ยนทุกรอบที่ให้บริการ และนำไปซักให้สะอาด และ 3) เน้นทำความสะอาด 7 จุดเสี่ยงปนเปื้อนเชื้อโรคในห้องส้วม ได้แก่ ที่จับสายฉีดชำระ บริเวณพื้นห้องส้วม ที่รองนั่งโถส้วม ที่กดโถส้วม โถปัสสาวะ ที่เปิดก๊อกอ่างล้างมือ และกลอนประตูหรือลูกบิด และส่วนที่ 2 ผู้ปฏิบัติงาน ให้เพิ่มความตระหนักแก่พนักงานทำความสะอาด โดยสวมหน้ากากผ้าและถุงมือยางขณะปฏิบัติงาน เพื่อลดความเสี่ยงปนเปื้อนเชื้อโรค” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
ทางด้าน แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวเสริมว่า ผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟขอให้ยึดหลัก 3 ล. คือ 1) ลด : ลดความเสี่ยงจากการสัมผัสด้วยการล้างมือด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์ ให้บ่อยขึ้น โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในพื้นที่สาธารณะและก่อนกินอาหาร และหากรู้สึกไม่สบาย ไอ จาม ให้สวม หน้ากากอนามัย 2) เลี่ยง : เลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค และเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่ ที่มีคนหนาแน่น รวมทั้งเลี่ยงใช้มือสัมผัสหน้า และ 3) ดูแล : ดูแลสุขภาพตนเองและสังคม รักษาสุขภาพด้วยการกินร้อน ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ

ร่วมแสดงความคิดเห็น