“หีบธรรม” โบราณของครูบามหาป่า ในพิพิธภัณฑ์ “วัดไหล่หินหลวง” ลำปาง

วัดไหล่หินหลวง หรือวัดเสลารัตนปัพพตาราม วัดสำคัญเก่าแก่ของจังหวัดลำปาง ที่มีอายุหลายร้อยปี จากหลักฐานทางด้านโบราณ จารึกและตำนานต่าง ๆ ได้กล่าวถึงวัดไหล่หินในอดีตว่าเป็นวัดที่มีความสำคัญทางศาสนา มีหลักฐานว่าในปี พ.ศ. 2181 วัดไหล่หินสมัยนั้นยังเป็นอารามเล็ก ๆ มีพระภิกษุสามเณรมาอาศัยบวชเรียนเป็นจำนวนมาก

ความสำคัญของวัดไหล่หินนอก เหนือจากเป็นวัดสำคัญเก่าแก่ของจังหวัดลำปางแล้วนั้น ยังเป็นสถานที่เก็บคัมภีร์โบราณที่ผู้คนทั้งในและนอกชุมชนเข้ามาศึกษาและคัดลอกกัน ปัจจุบันคัมภีร์ส่วนหนึ่งที่ชำรุดเสียหายไป แต่ยังมีบางส่วนที่คงสภาพดีและได้เก็บรักษาไว้ในโรงธรรมของวัด คัมภีร์โบราณของวัดเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์และศาสนาที่แสดงให้เห็นความสำคัญของวัดไหล่หินในฐานะที่เป็นแหล่งศึกษาพระธรรมในสมัยโบราณ
ด้วยเหตุที่วัดไหล่หินหลวง เป็นอารามเก่าแก่ที่มีโบราณสถานและโบราณวัตถุสำคัญเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ชาวบ้านมีแนวคิดในการจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์วัดไหล่หินขึ้น
พิพิธภัณฑ์วัดไหล่หินหลวง เกิดขึ้นจากความร่วมมือของชาวบ้านที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันจัดเก็บวัตถุโบราณของท้องถิ่น บอกเล่าถึงเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของชุมชนที่มีมาตั้งแต่อดีต รวมทั้งสมบัติเก่าแก่อันทรงคุณค่าของครูบามหาป่าเจ้าเกสระปัญโญ พระนักบุญผู้สร้างวิหารโบราณอันงดงามที่สุดแห่งหนึ่งของล้านนา
โดยได้นำสิ่งของเครื่องใช้และวัตถุโบราณต่าง ๆ ภายในวัดมาเก็บรวบรวมไว้ที่ศาลาวัด เมื่อปี พ.ศ.2512 หลังจากนั้นชาวบ้านก็ได้นำสิ่งของโบราณมาร่วมบริจาคอีกมากมาย เพื่อนำมารวบรวมสะสมไว้
ปี พ.ศ. 2530 คณะศรัทธาวัดไหล่หินหลวง จัดได้สร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ขึ้น จากแรงศรัทธาของบรรดาลูกศิษย์ของครูบามหาป่าเกสระปัญโญ และจากวิถีชีวิตดั่งเดิมของชุมชนไหล่หิน จึงทำให้ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์มีข้าวของเครื่องใช้โบราณที่หาชมยากเก็บสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นวัตถุทางศาสนาและพิธีกรรม ตลอดจนเครื่องใช้ไม้สอยในวิถีชีวิตของชุมชนแต่เก่าก่อน
ยิ่งกว่านั้น พิพิธภัณฑ์วัดไหล่หินหลวงนี้ยังเป็นแหล่งบันทึกตำนานพิธีกรรมการสวดเบิก อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของท้องถิ่น มีวัตถุชิ้นสำคัญประกอบพิธีกรรมที่เรียกว่า “วี” ซึ่งมีลักษณะที่สวยงามหาชมได้ยากในปัจจุบัน
นอกจากนั้นยังมี “หีบธรรม” กรุสมบัติในอดีตที่ใช้รักษาคัมภีร์ใบลาน หนึ่งในสมบัติครูบามหาป่าที่ยังหลงเหลืออยู่ รวมทั้ง “มะพร้าวผ่าซีก” ตัวแทนของความเลื่อมใสและศรัทธาของเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงที่มีต่อครูบามหาป่า ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของตำนานวิหารโบราณวัดไหล่หินแห่งนี้
ในบริเวณวัดไหล่หินหลวง ยังมีศาสนสถานสำคัญอีกหลายแห่ง โดยเฉพาะ “โรงธรรม” เป็นอาคารที่อยู่ในเขตสังฆาวาสใกล้ประตูทางเข้าทิศเหนือ สร้างขึ้นเมื่อ จ.ศ. 1281 (พ.ศ. 2069) พระอุตตะมะอารามะธิบดี พร้อมด้วยหนานมณีวรรณ หนานวงศ์ พญาศรีวิเลิศและพญาแสนต้าร่วมกันบูรณะใหม่ในปี พ.ศ. 2462 แต่เดิมใช้เป็นกุฏิ ปัจจุบันใช้เป็นที่เก็บรักษาคัมภีร์โบราณอายุหลายร้อยปี ซึ่งยังคงสภาพที่สมบูรณ์
โดยเนื้อหาของคัมภีร์โบราณ กล่าวถึง เรื่องราวที่ครูบามหาป่าเจ้าเกสระปัญโญ ได้จารไว้ อาทิ เรื่อง “ปณณาสนิบาตร” ที่จารไว้เมื่อ จ.ศ. 192 (พ.ศ. 1373) มีอยู่ 7 ผูก 258 หน้า และบทสวดพุทธาภิเษกที่เขียนไว้เมื่อปี พ.ศ. 2443 ยังคงสภาพที่สมบูรณ์ ซึ่งจากหลักฐานเหล่านี้ ผนวกกับวัฒนธรรมความเชื่อที่หลงเหลืออยู่ ทำให้สันนิษฐานไว้ไหล่หินเป็นชุมชนที่มีการตั้งถิ่นฐานมาช้านานหลายร้อยปี
โรงธรรมหลังนี้ สร้างขึ้นตามแบบแผนกุฏิเก่าของวัดพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งมีจารึกบนแผ่นไม้ว่าสร้างในปี พ.ศ. 2027 นับว่าเป็นอาคารที่สร้างตามแบบกุฏิโบราณของล้านนาที่มีสภาพสมบูรณ์สวยงาม
บทความโดย
จักรพงษ์  คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น