ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 หารือแนวทางการอนุรักษ์ และพัฒนาหัตถกรรมเครื่องเขิน ในพื้นที่ภาคเหนือ

เมื่อวันอังคารที่ 17 มีนาคม 2563 ณ ห้องหิรัญญิการ์ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 นายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดการประชุม “หารือแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาหัตถกรรมเครื่องเขินในพื้นที่ภาคเหนือ”

นายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายในการส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ และจังหวัดในกลุ่มภาคเหนือตอนบน เป็นกลุ่มจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวเป็นที่นิยม มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนจากการท่องเที่ยวในปี พ.ศ. 2557 เป็นจำนวนเงิน 870,873 ล้านบาท จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในชุมชนมีมากกว่า 11,208,125 คน ภาคเหนือตอนบนถือว่าเป็นจุดศูนย์กลางการท่องเที่ยวของประเทศ งานศิลปะหัตถกรรมที่เป็นสัญลักษณ์คู่กับอัตลักษณ์ของชุมชนท่องเที่ยวมาช้านานนั้น เครื่องเขินล้านนาที่นักท่องเที่ยวต่างจดจำเป็นภูมิปัญญาที่มีชื่อเสียง เป็นศิลปะหัตถกรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้อยู่คู่กับชุมชน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเรียนรู้และสัมผัสวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชน ซึ่งปัจจุบันผู้ที่จะสืบสานหัตถกรรมเครื่องเขินและเห็นความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านเครื่องเขินนั้นยากยิ่งขึ้น

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุน และพัฒนาหัตถกรรมวิสาหกิจชุมชน และอุตสาหกรรมทั้งขนาดกลางและขนาดเล็กให้ผู้ประกอบการ ได้มีการพัฒนาผู้ประกอบการหัตถกรรมเครื่องเขินในพื้นที่ภาคเหนือโดยตลอด และมีแนวคิดในการอนุรักษ์และพัฒนาด้านเครื่องเขินในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เหลือน้อยให้คงอยู่ ศูนย์ฯจึงได้มีโครงการเพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาด้านเครื่องเขินทุกมิติ

จึงจัดการประชุมเพื่อหาแนวของการขับเคลื่อนการดำเนินงาน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการและตลาดในปัจจุบัน และสามารถตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่ได้ โดยมีผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดร่วมผลักดันให้หัตถกรรมเครื่องเขินในพื้นที่ภาคเหนือ ขับเคลื่อนได้อย่างครบวงจร จะช่วยพัฒนาและยกระดับมาตรฐานเอกลักษณ์ของเครื่องเขินภาคเหนือ ให้สามารถส่งออกไปจำหน่ายยังตลาดทั้งภายในและต่างประเทศได้มากขึ้น

วัตถุประสงค์ เพื่อหาแนวทางการอนุรักษ์หัตถกรรมเครื่องเขินพื้นที่ภาคเหนือ ที่เป็นเอกลักษณ์ด้านภูมิปัญญาดั้งเดิมในชุมชนให้คงอยู่ และเพื่อเพิ่มศักยภาพ ความรู้ ความสามารถให้ผู้ประกอบการผลิตและพัฒนาหัตถกรรมเครื่องเขินไปพัฒนาด้านรูปแบบ การตลาด และการผลิตอย่างเป็นรูปธรรมอีกทั้ง  เพื่อเป็นศูนย์กลางเรียนรู้หัตถกรรมเครื่องเขินพื้นที่ภาคเหนือ บริการข้อมูลและดำเนินการเชื่อมโยงด้านการผลิต การตลาด วัตถุดิบแก่ผู้ประกอบการและผู้สนใจทั่วไป

กลุ่มเป้าหมายผู้ที่เข้าร่วมโครงการได้แก่ ภูมิปัญญาท้องถิ่น (ปราชญ์เครื่องเขิน) ที่มีความชำนาญเกี่ยวกับหัตถกรรมเครื่องเขิน สถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนที่เกี่ยวข้องกับเครื่องเขิน

โดยคาดหวังว่าจะเกิดการกระตุ้นให้ทุกภาคส่วน ตระหนักถึงความสำคัญของภูมิปัญญาดั้งเดิมที่กำลังจะสูญหายให้คงอยู่คู่ชุมชนต่อไป เกิดความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการพัฒนาหัตถกรรมเครื่องเขินได้อย่างต่อเนื่อง และเป็นรูปธรรมในทุกมิติ เกิดการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนทัศนคติ รูปแบบ นวัตกรรมที่จะช่วยให้หัตถกรรมเครื่องเขิน ก้าวไปสู่หัตถกรรมในอนาคตได้อย่างต่อเนื่อง ได้แนวทางการพัฒนาหัตถกรรมเครื่องเขิน โดยภาพรวมและสามารถนำไปทำแผนงบประมาณประจำปี เพื่อพัฒนาหัตถกรรมเครื่องเขินพื้นที่ภาคเหนือ ให้คงอยู่ในระยะยาวได้

ร่วมแสดงความคิดเห็น