“วัดเชียงมั่น” วัดคู่บารมีของพญามังราย

เมื่อครั้งที่พระยามังรายมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งล้านนาไทยได้ทรงสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1839 นั้น พระองค์ทรงโปรดให้สร้างวัดขึ้นเป็นวัดแรกแห่งนครเชียงใหม่ ก็คือ วัดเชียงมั่น ซึ่งเป็นวัดที่มีการผสมผสานศิลปแบบเชียงแสน ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากลังกาเข้ากับศิลปะแบบล้านนา งานศิลปเชียงแสนเข้ามาแพร่หลายอยู่ในอาณาจักรล้านนาไทยราวปี พ.ศ.1880 โดยพระเจ้าปักกรมพาหุมหาราช โดยสมัยนั้นสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ในเชียงใหม่สร้างขึ้นตามอิทธิพลแบบลังกา สังเกตได้จากการทำฐานสถูปเจดีย์เป็นฐานสูงมีลาดบัวซ้อนกันหลาย ๆ ชั้น ทั้งที่มีซุ้มและไม่มีซุ้ม บริเวณซุ้มเหล่านั้นมักจะทำประตูทางเข้า ประตูออก หรือทำเป็นซุ้มสำหรับตั้งพระพุทธรูปก็มี เช่น เจดีย์ของวัดเจดีย์หลวง วัดพระธาตุดอยสุเทพ และวัดเชียงมั่น เป็นต้น
ตามประวัติการสร้างวัดเชียงมั่น แต่เดิมวัดนี้เป็นพระราชวังหรือคุ้มหลวง อันเป็นที่ประทับของพญามังรายมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งล้านนาไทย ก่อนที่พระองค์จะทรงสร้างเวียงนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ได้ยกรี้พลโยธาเข้ามาตั้งเป็นปฐมที่บริเวณแห่งนี้ ซึ่งเรียกกันว่า “เวียงเหล็ก” หมายถึงความแข็งแรงมั่นคง

กระทั่งถึงจุลศักราช 658 ราวปี พ.ศ.1839 เดือนวิสาขะ ขึ้น 8 ค่ำ ตรงกับวันพฤหัสบดี ปีวอก ตรีศก อันมีพญามังรายมหาราชเป็นประธาน พร้อมด้วยพญางำเมือง แห่งเมืองพะเยาและพ่อขุนรามคำแหง แห่งกรุงสุโขทัย ได้ทรงสร้างพระเจดีย์ขึ้นตรงที่ราชมณเฑียรหอประทับของพระองค์ แล้วทรงขนานนามว่า “วัดเชียงมั่น” ให้เป็นพระอารามแห่งแรกของเมืองเชียงใหม่

 

โบราณสถาน โบราณวัตถุที่สำคัญในวัดเชียงมั่น คือ พระเสตังคมณี หรือพระแก้วขาว กับพระพุทธรูปศิลาปางปราบช้างนาฬาคีรี ถือได้ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงใหม่ นอกจากนั้นยังมีเจดีย์ช้างล้อม อายุเกือบ 700 ปี ศิลปะแบบล้านนา

 

 

พระเสตังคมณี หรือพระแก้วขาวองค์นี้มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ รวมทั้งยังเป็นพระพุทธรูปสำคัญ หนึ่งในสามของเชียงใหม่ อันได้แก่ พระพุทธสิหิงค์ พระเสตังคมณี และพระเจ้าฝนแสนห่า พระเสตังคมณี เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นจากหินควอตซ์สีขาวขุ่น โดยช่างชาวละโว้ ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว 700 ปี ในวันเพ็ญเดือน 7 พระสุเทวฤาษี ได้เอาดอกจำปา 5 ดอก ขึ้นไปบูชาพระจุฬามณียังดาวดึงส์ และได้สนทนากับพระอินทร์ ทำให้ทราบว่าในเดือนวิสาขะเพ็ญที่เมืองลวะรัฏฐะ (ลพบุรี) จะมีการสร้างพระพุทธรูปปฏิมากรด้วยแก้วขาว

 

ครั้นสุเทวฤาษีกลับลงมาจากดาวดึงส์สวรรค์แล้ว จึงได้เดินทางไปยังเมืองละโว้ ขณะนั้นพระกัสสปเถระเจ้าได้ปรารภที่จะสร้างพระแก้ว แล้วขอพระวิศนุกรรมมาเนรมิตเป็นองค์พระพุทธปฏิมากร สุเทวฤาษีและฤาษีอื่น ๆ ก็ได้ช่วยในการสร้างพระแก้วองค์นี้ด้วย เมื่อสำเร็จจึงได้บรรจุพระบรมธาตุ 4 องค์ไว้ในพระโมลี (กระหม่อม) พระนลาด (หน้าผาก) พระอุระ (หน้าอก) และพระโอษฐ์ (ปาก) รวม 4 แห่ง

 

เมื่อสร้างเสร็จแล้วพระแก้วขาวได้ประดิษฐานอยู่ที่เมืองละโว้เป็นเวลานาน กระทั่งเมื่อพระนางจามเทวี ซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระเจ้ากรุงละโว้ ถูกอัญเชิญขึ้นมาครองเมืองหริภุญชัย (นครลำพูน) พระนางจึงทูลขออนุญาตจากพระราชบิดานิมนต์พระภิกษุสงฆ์ สามเณร ช่างสล่า นักปราช์ญ รวมทั้งพระแก้วขาว มาเป็นพระพุทธรูปบูชาประจำพระองค์ พระแก้วขาวจึงประดิษฐานอยู่ที่เมืองหริภุญชัยเป็นเวลาหลายร้อยปี ต่อมาพญามังรายมหาราช ผู้สถาปนาอาณาจักรล้านนาไทยได้เข้าตีเมืองหริภุญชัย พระองค์ได้เผาทำลายเมืองหริภุญชัยจนพินาศ แต่ปรากฏว่ามีวิหารหลังหนึ่งไม่ได้ถูกเผาทำลายไป พญามังรายจึงได้เข้าไปในวิหารหลังนั้น พบว่าภายในเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วขาวอยู่ จึงได้อัญเชิญกลับไปที่เวียงนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ เมื่อราวปี พ.ศ.1824 และได้เคารพสักการะบูชาพระแก้วขาวเป็นพระพุทธรูปประจำพระองค์ตั้งแต่นั้นมา รวมถึงกษัตริย์ผู้ครองนครเชียงใหม่ในยุคต่อ ๆ มาก็เคารพนับถือบูชาพระแก้วขาวเป็นพระพุทธรูปประจำพระองค์ทั้งสิ้น

 

นอกจากที่วัดเชียงมั่น จะเป็นที่ประดิษฐานพระเสตังคมณี หรือพระแก้วขาวแล้ว ที่วัดนี้ยังมีพระพุทธรูปศิลาปางปราบช้างนาฬาคีรี ถือได้ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมือง ที่หน้าอุโบสถของวัดเชียงมั่นยังมีศิลาจารึกซึ่งจารึกเมื่อปี พ.ศ. 2124 กล่าวถึงประวัติของวัดและประวัติเมืองเชียงใหม่ รวมทั้งการบูรณะวัดนี้ในสมัยต่อ ๆ มาอีกด้วย เชียงใหม่ พระพุทธรูปศิลา องค์นี้สร้างขึ้นโดยฝีมือสกุลช่างปาละ ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 13-14
บทความโดย
จักรพงษ์  คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น