“ดอยคว่ำล่อง” สุสานขุนหลวงวิรังคะ

ดอยม่อนล่อง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ม่อนคว่ำล่อง” เป็นที่ตั้งของศาลจุดฝังศพของพ่อขุนหลวงวิรังคะ
“ขุนหลวงวิรังคะ” เป็นเจ้าเมืองระมิงค์นคร ทรงเป็นกษัตริย์ของชาวลัวะ ที่มีพละกำลังแข็งแกร่งและมีคาถาอาคมแก่กล้า เมื่อทรงสูญเสียมเหสีอันเป็น ที่รักไปก็นำความโศกเศร้ามาสู่ขุนหลวงวิรังคะเป็นอย่างมาก ข้าราชบริพารทั้งหลายเห็นดังนั้นจึงกราบทูลเรื่องเจ้าแม่จามเทวี ซึ่งเป็นกษัตริย์ปกครองนครหริภุญชัย หรือ เมืองลำพูน ซึ่งมีความสามารถและมีรูปโฉมที่งดงามเหมาะสมที่จะเป็นมเหสีองค์ใหม่ ขุนหลวงวิรังคะจึงได้ประสงค์ให้จัดขบวนอัญเชิญเจ้าแม่จามเทวีมาเป็นมเหสี ทางด้านเจ้าแม่จามเทวีเมื่อทราบข่าวก็ไม่ปรารถนาที่จะมาเป็นชายา

เนื่องจากกลัวจะเป็นที่ครหาแก่ชาวเมือง จึงได้ออกอุบายให้ขุนหลวงวิรังคะสำแดงอานุภาพโดยการพุ่งเสน้า (แหลน) มายังเมืองลำพูน ถ้าสามารถพุ่งมาถึงได้จะยอมเป็นมเหสีของขุนหลวงวิรังคะ ขุนหลวงวิรังคะจึงตกลงแต่ขอทำการทดสอบฝีมือก่อน โดยทำการพุ่งเสน้าจากดอยสุเทพ มาตกยังบริเวณหนองน้ำทางทิศเหนือของเมืองหริภุญชัย ต่อมาชาวบ้านเรียกว่า “หนองเสน้า” เมื่อเจ้าแม่จามเทวีเห็นดังนั้น ก็คิดว่าคงไม่ได้การ จึงออกอุบายทำหมวกปีกกว้างหลากสีงดงาม ถวายแด่ขุนหลวงวิรังคะเพื่อเป็นกำลังใจ แต่ว่าพระนางได้ลงคาถาอาคมไว้

เมื่อถึงเวลาขุนหลวงวิรังคะก็ทรงสวมหมวกที่เจ้าแม่จามเทวีทำให้ก่อนที่จะพุ่งเสน้าก็ได้เกิดมีลมพัดปีกหมวกลงมาปิดตา ทำให้เสียสมาธิและอ่อนกำลังลง เสน้าจึงพุ่งไปตกที่ดอยเงินเหนือดอยคำไปไม่ถึงเมืองหริภุญชัย ขุนหลวงวิรังคะเกิดความโมโหจึงได้ยกทัพไปตีเมืองหริภุญชัยแต่ได้รับความพ่ายแพ้กลับ
มา ระหว่างตีเมืองหริภุญชัยขุนหลวงวิรังคะได้รับบาดเจ็บสาหัส ก่อนที่จะสิ้นใจได้มีพระประสงค์ให้นำศพไปฝัง ณ จุดที่สามารถมองเห็นเมืองหริภุญชัยได้ชัดเจนแต่ไม่สามารถนำศพข้ามแม่น้ำไปได้เนื่องจากความเชื่อของคนสมัยก่อนว่า ศพของกษัตริย์จะต้องนำไปฝัง ณ ยอดดอยสูงสุด

ดังนั้นชาวเมืองจึงนำโลง (ล่อง) ใส่ศพเดินลัดเลาะไปตามสันเขาแต่ในระหว่างเดินทางล่องบรรจุศพได้เกิดคว่ำลง ณ จุดบริเวณที่ชาวบ้านเรียกว่า “ม่อนล่อง” หรือ “ม่อนคว่ำล่อง” นั้นเอง จึงเป็นที่มาของชื่อดอยม่อนล่อง จากบริเวณนี้สามารถมองเห็นทัศนียภาพของเมืองเชียงใหม่และลำพูนได้ชัดเจน

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น