คุ้มเจ้าวงศ์บุรี บ้านโบราณ 120 ปี เมืองแพร่

จังหวัดแพร่ ได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งไม้สักทอง เพราะนับตั้งแต่อดีตที่ผ่านเรามักรู้จักชื่อของเมืองแพร่ในฐานะเป็นเมืองที่มีการทำไม้สักมากที่สุดของประเทศ พื้นที่ต่าง ๆ ของจังหวัดแพร่ไม่ว่าที่ไหน ๆ ก็เต็มไปด้วยไม้สัก ตั้งแต่ขุนขอดยอดดอยไปจนถึงลุ่มแม่น้ำยม แม่น้ำแม่งาว แม่สอง แม่หลาย ตลอดจนถึงแม่พวก แม่ป่านจนสุดเขตแคว้นแดนจังหวัด นับได้ว่าเป็นแผ่นดินแห่งไม้สักจริง ๆ

ย้อนหลังไปประมาณสัก 50- 60 ปี เมื่อยังมีการทำไม้สัก เมื่อใครสามารถนำขอนไม้สักในป่าเมืองแพร่ล่องแม่น้ำยมลงไปขายที่ปากน้ำโพจังหวัดนครสวรรค์ได้ บรรดาพ่อค้าไม้ที่ไปรอรับซื้อไม้เป็นได้แย่งกันซื้อก่อนไม้สักที่ล่องไปจากป่าอื่น จากการที่จังหวัดแพร่เป็นเมืองไม้สักดังกล่าว จึงเป็นที่สนใจของบริษัททำป่าไม้จากต่างประเทศ โดยเฉพาะของบริษัท Bombay Burma & Trading Co.,Ltd ของชาวอังกฤษ ซึ่งได้รับสัมปทานทำไม้จากรัฐบาลไทย ในบริเวณป่าแม่ยมตะวันตกทั้งหมด นอกจากนั้นยังมีบริษัท East  Asiatic & Co.,Ltd ซึ่งเป็นของชาวเดนมาร์กก็ได้รับสัมปทานทำไม้สักทางฝั่งแม่ยมตะวันออกอีกด้วย ปัจจุบันที่ทำการของบริษัท East  Asiatic นั้นได้กลายเป็นโรงเรียนป่าไม้แพร่ เปิดทำการสอนวิชาว่าด้วยการป่าไม้ ตอนหลังได้โอนหลักสูตรให้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไป

 

 

เมืองแพร่ก็เหมือนกับหัวเมืองต่าง ๆ ในเขตแคว้นแดนล้านนา สิทธิและอำนาจการปกครองและการบริหารบ้านเมืองทั้งหมดตกอยู่กับเจ้าผู้ครองนครแต่ผู้เดียว มีขุนนางระดับพญา หรือแสนหลวง เป็นผู้กำกับดูแล โดยขึ้นตรงต่ออัครมหาเสนา ซึ่งมีบรรดาศักดิ์ในทำเนียบว่า พญาปื้น หรือ พญาจ่าแสนบดี ที่ว่าการของเสนาบดีนั้นเรียกว่า เค้าสนามหลวง พญาปื้นเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด ขึ้นตรงต่อเจ้าหลวงหรือเจ้าครองนครแต่เพียงผู้เดียว การสืบสันติวงศ์ของเจ้าผู้ครองนครนั้นให้เป็นไปตามสายเลือดลดหลั่นกันไปตามอาวุโส คือ รองจากเจ้าหลวงก็จะมี เจ้าอุปราช เจ้าราชวงศ์ เจ้าบุรีรัตน์ เจ้าสุริยวงศ์ เจ้าราชภาคิวงศ์ เจ้าราชภาคินัย เจ้าราชดนัย เจ้าราชสัมพันธ์วงศ์ และเจ้าราชบุตร
ปัจจุบันเมืองแพร่ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นเมืองที่การท่องเที่ยวคึกคักมากนัก แต่ด้วยเป็นเมืองที่มีธรรมชาติขุนเขาป่าไม้เขียวขจี เมื่อรวมกับศิลปวัฒนธรรมเก่าแก่ที่คนเมืองแพร่ยึดถือปฏิบัติจนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะแบบแล้ว จึงเป็นสิ่งดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนเมืองแห่งนี้มักยิ่งขึ้น

 

 

นอกจากนี้ในเมืองแพร่ยังมีศิลปกรรมแบบกึ่งคลาสสิคที่สร้างเมื่อราวร้อยกว่าปีนี่เองก็คือ “บ้านวงศ์บุรี” เป็นบ้านของเจ้าพรหมสุนันตา วงศ์บุรี (หลวงพงษ์พิบูลย์) ผู้สืบเชื้อสายมาจากอดีตเจ้าเมืองแพร่ บ้านหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2440 โดยช่างชาวจีนมาจากมณฑลกวางตุ้ง เป็นบ้านแบบยุโรปประยุกต์ หลังคาสูงทรงปันหยา 2 ชั้น มีลวดลายเถาไม้แกะสลักประดับตัวบ้าน เช่น ที่หน้าจั่ว ช่องลม ชายน้ำ ประตู หน้าต่าง เป็นต้น ภายในบ้านตกแต่งด้วยสิ่งของเครื่องใช้เก่าแก่ของตระกูลที่ตกทอดสืบต่อมาหลายชั่วอายุ บ้านวงศ์บุรีเป็นบ้านไม้ขนาดใหญ่ 2 ชั้น มีลวดลายไม้แกะสลักเป็นส่วนประกอบ ลวดลายส่วนใหญ่เป็นลายเครือเถาว์ที่เรียกว่า ทรงขนมปังขิง ซึ่งได้รับความนิยมในสมัยรัชกาลที่ 5 บ้านวงศ์บุรีหลังนี้ใช้เวลาในการก่อสร้างนานถึง 3 ปี ในสมัยของแม่เจ้าบัวถา มหายศปัญญา ภรรยาคนแรกของเจ้าพิริยเทพวงศ์ เจ้าหลวงเมืองแพร่องค์สุดท้าย และเป็นพี่สาวของพระยาบุรีรัตน์

 

ภายในบ้านมีการจัดแสดงให้ชมสิ่งของเครื่องใช้ในอดีต เช่น เตียงนอน ตู้ โต๊ะเครื่องแป้ง เครื่องเงินต่าง ๆ ถ้วยชาม คนโท กำปั่นเหล็ก แหย่งช้าง อาวุธโบราณ พระพุทธรูปสมัยเชียงแสนและสุโขทัย รวมถึงเอกสารสำคัญต่าง ๆ เช่น สัญญาบัตรที่ได้รับการโปรดเกล้าฯจากรัชกาลที่ 5 เอกสารการซื้อขายทาสอายุกว่า 100 ปี เอกสารการสัมปทานป่าไม้ ตั๋วรูปพรรณช้าง วัว เป็นต้น
ปัจจุบันบ้านวงศ์บุรีเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่ 08.30-17.00 น. ค่าเข้าชมคนละ 30 บาท เด็ก 10 บาท นักเรียน นักศึกษาตามจิตศรัทธา

 

บทความโดย
จักรพงษ์  คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น