โรคระบาดในอดีต มักปล่อยทิ้งคนป่วยไว้และพากันหนีไป จนกลายเป็นบ้านร้างเมืองร้าง

วันนี้จะมาพูดเรื่องโรคระบาดในอดีต หรือที่คนสมัยก่อนเรียกว่า “โรคห่า” นั้น ในอดีตเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก ถือเป็นเหตุการณ์อัปมงคล เพราะการเกิดโรคห่าขึ้นแต่ละครั้งจะมีความรุนแรงมาก เนื่องด้วยมีผู้คนเจ็บป่วยล้มตายจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว บางครั้งเป็นจำนวนนับหมื่นคน จนกระทั่งมีคำที่เรียกเหตุการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นนี้ว่า “ห่าลง”

โดยโรคห่าที่เกิดขึ้นในอดีตไม่ชัดเจนว่าเป็นโรคอะไร แม้ว่าภายหลังจะเชื่อว่าเป็นโรคอหิวาตกโรคก็ตาม แต่ตามพระราชบัญญัติสำหรับโรคระบาด พ.ศ. 2456 ระบุไว้ 3 โรค คือ กาฬโรค อหิวาตกโรค และไข้ทรพิษหากย้อนดูประวัติศาสตร์การเกิดโรคระบาดในประเทศไทย ตามหลักฐาน “จามเทวีวงศ์” ซึ่งเป็นพงศาวดารของเมืองลำพูน หรือเมืองหริภุญไชย ประมาณในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 11 ระบุไว้ว่า ได้เกิดเหตุการณ์โรคระบาดที่มีคนตายเป็นจำนวนมาก แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นโรคอะไร เพียงแต่ระบุว่าหากบ้านไหนชุมชนใดเป็นโรคนี้ จะทยอยตายกันหมด รวมถึงถ้าใครไปจับต้องข้าวของคนในบ้านก็จะล้มตายไปด้วย (จากข้อมูลนี้ชี้ว่าไม่น่าใช่อหิวาตกโรค เพราะเป็นโรคติดต่อแค่เพียงสัมผัส) ซึ่งวิธีการควบคุมโรคในสมัยนั้นคือ จะปล่อยทิ้งคนป่วยไว้และที่เหลือ จะพากันหนีไปกันหมด จนกลายเป็นบ้านร้างเมืองร้าง และเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 6 ปี ค่อยกลับมาอาศัยใหม่  
ข้อมูล : เรียบเรียงจากข้อเขียนของนายนภนาท อนุพงศ์พัฒน์ ผู้จัดการหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย

ร่วมแสดงความคิดเห็น