คติความเชื่อ การก่อกองทราย ถวายเจดีย์ตุง วันปีใหม่ล้านนา

ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือ ปี๋ใหม่เมืองล้านนา จะมีประเพณีอย่างหนึ่งที่จะต้องทำสืบต่อกันมา ได้แก่ การก่อกองทรายถวายเจดีย์ตุง อันเนื่องมาจากเป็นประเพณีหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา โดยคนไทยผูกโยงประเพณีนี้เข้ากับคติความเชื่อเรื่องเวรกรรมในพระพุทธศาสนา มีการก่อพระเจดีย์ทรายถวายวัดเพื่อนำเศษดินทรายที่ติดเท้าออกจากวัดไปมาคืนวัดในรูปพระเจดีย์ทราย และเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาให้เป็นกุศลอานิสงส์ และนอกจากประเพณีเพื่อเป็นพุทธบูชาแล้ว ยังเป็นกุศโลบายของคนในอดีตให้มีการรวมตัวของคนในชุมชนเพื่อร่วมกันจัดประเพณีรื่นเริงเป็นการสังสรรค์สร้างความสามัคคีของคนในชุมชนด้วย

ปัจจุบันประเพณีก่อกองทรายถวายเจดีย์ตุงพบเพียงในประเทศไทยและลาวเท่านั้น วันสำคัญในช่วงเทศกาลปีใหม่เมือง ได้แก่ วันสังขารล่อง วันสังขารล่อง หรือสงกรานต์ล่อง หรือสังขานต์ล่อง ถือเป็นวันส่งท้ายศักราชเก่า คนเมืองจะตื่นแต่เช้าเป็นพิเศษ ก่อนตีนฟ้ายก เช้ามืดจะมีการยิงปืน จุดประทัด เพื่อไล่สิ่งที่ไม่ดีไปกับสังกรานต์ สาย ๆ จะทำความสะอาดบ้านเรือน บ่าย ชำระล้างร่างกายให้สะอาด แต่ตัวด้วยเสื้อผ้าใหม่
วันเนา หรือวันเน่า เป็นวันที่พระอาทิตย์เนาอยู่ระหว่างราศีมีนกับราศีเมษ ในทางทางโหราศาสตร์ คือไม่ดี ไม่ส่งเสริมสิริมงคล วันนี้จะคึกคักเป็นพิเศษ ตั้งแต่เช้ามืด เป็นวันจับจ่ายซื้อของจำเป็นต้องใช้ในประเพณีปีใหม่ มีการเตรียมอาหารคาวหวาน เช่น ขนมจ็อก ห่อนึ่ง แกงฮังเล หรืออื่น ๆ เพื่อจะเอาเป็นทำบุญที่วัดในวันพญาวัน และเอาไปดำหัวผู้ใหญ่ ช่วงสาย ๆ จะไปชุมนุมกันเพื่อเล่นน้ำปีใหม่ ที่สำคัญมากของวันนี้ คือ เป็นวันขนทรายเข้าวัด เพื่อเป็นการก่อพระเจดีย์ทราย ขนมที่นิยมทำกันในช่วงปีใหม่ได้แก่ ขนมจ็อก ขนมชั้น ขนมเกลือ ขนมตายลืม ขนมลิ้นหมา ขนมวง และขนมกล้วย
วันพญาวัน หรือพระญาวัน เป็นวันที่มีความหมายต่อคนเมืองมาก เป็นวันยอดม้อน เป็นวันที่ดีที่สุดในรอบปี มีกิจกรรมตามความเชื่อในวิถีชีวิต ความเชื่อในพิธีกรรม ไสยศาสตร์ เช่นการเลี้ยงผีครู การนำเครื่องรางมาล้างนำสิ่งที่ไม่ดีออกไป การสักคาถา ยันต์ต่าง ๆ ตามร่างกาย ถือเป็นการเพิ่ม ความขลัง วันนี้เป็นวันที่มีการทำบุญทางศาสนาตั้งแต่เช้าตรู่ มีการถวายภัตตาหารให้กับคนตาย ที่เรียกว่า ทานขันข้าว ทานตุง หรือถวายตุงปักเจดีย์ทราย ดำหัว คารวะผู้ใหญ่ การสรงน้ำพระธาตุ พระสถูปเจดีย์ พระพุทธรูป การทานไม้ค้ำสะหลี หรือไม้ค้ำโพธิ์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นการค้ำจุนพระศาสนา มีการทำบุญใจบ้าน คือบริเวณที่ตั้งของเสาบ้าน หรือ สะดือบ้าน
วันปากปี กิจกรรมเริ่มที่วัดของแต่ละหมู่บ้าน มีการบูชาข้าวลดเคราะห์ ช่วงสายเป็นการทำพิธีส่งเคราะห์บ้าน และสืบชะตาบ้าน กระทำที่กลางหมู่บ้าน ในช่วงสาย ๆ 8 – 9 โมง เป็นต้นไป ช่วงค่ำ กระทำที่บ้านเรือนของตน มีการจุดเทียนบูชาบ้านเรือน หรือเรียกว่าต๋ามเตียนปู่จาพระเจ้า ใช้เทียนสามเล่ม คือเทียนบูชาลดเคราะห์ เทียนบูชาสืบชะตา และเทียนบูชาโชคลาภ บาง ท้องถิ่นจะมีการต๋ามขี้สายเท่าอายุ (การจุดเส้นไฟเท่าจำนวนอายุ)

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น