ชาวบ้านยังสืบสานวิถีปี๋ใหม่เมือง ปักตุง ก่อเจดีย์ทราย ขอพรตามวัด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ แม้ปีนี้จะงดจัดกิจกรรมต่าง ๆ ตามประเพณีปี๋ใหม่เมือง เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ยังปรากฎว่า ตามวัดต่าง ๆ มีการจัดมุมประกอบศาสนพิธีตามความเชื่อ ความศรัทธาของชาวบ้าน ทั้งมีการก่อเจดีย์ทราย ขนาดต่าง ๆ เพื่อให้ปักตุงบูชาปราชญ์ล้านนา อธิบายความหมายของการทานตุง หรือตานตุงเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นในภาคเหนือ หรือล้านนา เชื่อว่าเป็นสะพานบุญสู่สวรรค์ หากถวายตุง เป็นพุทธบูชา ซึ่งจะมีทั้งแบบผ้าและกระดาษ โดยตุงกระดาษนั้นพบว่ายังคงมีจำหน่ายตามร้าน ตามตลาด ในช่วงสงกรานต์ จะเป็นการตัดกระดาษหลากสีสันสลับไปมา ไม่ให้ขาดจากกัน บ้างก็เรียกตุงไส้หมู ตุงพญายอ

ทั้งนี้ในชุมชนหมู่บ้านที่มีการทอผ้า จะเป็นช่วงที่นำตุงผ้าทอสวย ๆ มาอวดประชันกัน ตามมุมเจดีย์ทราย ในแต่ละวัด ซึ่งหลาย ๆ ชุมชน มักจัดการประกวดชิงรางวัลกันด้วย ตั้งแต่อดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบัน “การตานตุง” ก็ยังมีความสำคัญผูกพันกับความศรัทธาของชาวล้านนา เป็นพิธีกรรมและความเชื่อที่ยังคงได้รับการอนุรักษ์ไว้จากรุ่นสืบรุ่น ปกติจะตานตุงในวันพญาวัน หรือวันที่ 15 เมษายน

ปัจจุบันบางชุมชน อาจกำหนดตานตุง (ทานตุงปีใหม่เมือง) แห่ไม้ค้ำสะหลี ในวันที่ 14 เมษายน บางชุมชนเลือก 16 เมษายน ซึ่งถือเป็นวันเถลิงศกใหม่ พร้อมกิจกรรม แห่ขบวนทานขันข้าว สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้อาวุโส จะเป็นช่วง13-19 เมษายน โดยมีเป้าหมายจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน วัดเข้ามาเป็นส่วนประกอบก็มี
กรรมการวัดแม่โจ้ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ทางวัด มีการจัดมุมก่อเจดีย์ทราย และมุมถวายทาน ให้พระ พร้อมขอพรด้วย เพราะวิถีชุมชนที่เมืองแม่โจ้ มีหลากหลายมีความเป็นพหุสังคม ทั้งชาวไทใหญ่ คนเมืองและผู้คนต่างถิ่น
ทีมข่าว สำรวจวัดในเขต อ.เมือง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ และ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน พบว่า หลาย ๆ วัดในแต่ละหมู่บ้าน ยังคงมีการก่อเจดีย์ทราย มีชาวบ้านนำตุงมาปักพร้อมของถวายทานตามความเชื่อเป็นจำนวนมาก และบางวัด มีการจัดมุมสรงน้ำพระด้วย ซึ่งมีชาวบ้าน มาสรงน้ำพระ ทำบุญเป็นระยะ ๆ แต่ไม่มาก เช่นช่วงปกติก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ร่วมแสดงความคิดเห็น