เชียงรายโควิดฯเป็น 0 ลุ้นผลป่วย-จนท.รพ.3 ราย งดขายเหล้าถึงสิ้นเดือน

เวลา 15.00 น.วันที่ 14 เ.ม.ย. 63 ที่ห้องประชุมกาสะลองคำ สำนักงานสาธารณสุข จ.เชียงราย นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.เชียงราย นายภาสกร บุญญลักษม์ รองผู้ว่าราชการฯ และหัวหน้าคณะทำงานสกัดกั้นโรคไวรัสโควิด-19 จ.เชียงราย นายทศเทพ บุญทอง นายแพทย์สาธารณสุข จ.เชียงราย และนายแพทย์ไชยเวช ธนไพศาล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ร่วมแถลงข่าวสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่

โดยตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค.-14 เม.ย.นี้ ได้มีผู้เข้าเกณฑ์ระวังโรคดังกล่าว จำนวน 138 ราย ตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 9 ราย ล่าสุดผู้ป่วยรายสุดท้ายซึ่งเป็นชายอายุ 20 ปี จากพื้นที่ อ.แม่สาย โดยมีอาการไม่รุนแรงไม่ต้องให้ยาต้านไวรัส และได้รักษาจนหาย รวมทั้งให้รอดูอาการจนครบ 14 วัน เมื่อวันที่ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว โดยแพทย์ยืนยันว่าหายป่วยแล้ว และไม่เป็นอันตรายต่อผู้อื่น แต่ก็ให้ปฏิบัติตนด้วยการอยู่แยกจากผู้อื่น และสวมหน้ากากอนามัยอีกอย่างน้อย 1 เดือน ทำให้ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อยืนยันของ จ.เชียงราย เป็น 0 แล้ว

ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่รอผลตรวจอีก 3 ราย โดยเป็นเจ้าหน้าที่เอกซเรย์และเจ้าหน้าที่ตรวจคัดแยกผู้ป่วย ของโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จำนวน 2 ราย มีอาการเป็นไข้ และมีผู้ป่วยทั่วไปจากโรงพยาบาล อ.ขุนตาล จ.เชียงราย จำนวน 1 ราย มีอาการปอดอักเสบรักษาตามอาการแล้วไม่หาย จึงเข้าเกณฑ์ต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ซึ่งผลจะทราบในวันนี้ ซึ่งทางคณะกรรมการฯ จะได้แจ้งให้ทราบต่อไป นอกจากนี้ ทางคณะกรรมการฯ ยังได้ประกาศมาตรการขยายระยะเวลาห้ามจำหน่ายสุรา จากเดิมกำหนดตั้งแต่วันที่ 12-16 เม.ย.นี้ ก็ไม่ให้ขายไปจนถึงวันที่ 30 เม.ย.นี้

นายประจญ กล่าวว่าตั้งแต่วันที่ 1-14 เม.ย.จ.เชียงราย ยังไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มเติมรวมระยะเวลา 2 สัปดาห์แต่ก็ยังคงมาตรการที่เข้มข้น แม้ว่าจะมีการประกาศจังหวัดไปแล้ว จำนวน 10 ฉบับ และคำสั่งจังหวัด จำนวน 12 ฉบับ ยังคงมีผลอยู่โดยเฉพาะการปิดถนนสายรอง 7 สาย ปิดสถานที่เสี่ยง ส่วนการงดการจำหน่ายสุราเพราะเห็นว่าอาจจะนำไปสู่ความเสี่ยงในการรวมกลุ่มกัน และควบคุมได้ยากด้วย โดยขอให้ดูแลเรื่องความสะอาดและผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง ต้องกักดูอาการ 14 วันอย่างเข้มงวด

นพ.ทศเทพ กล่าวว่า หลังจากไม่พบผู้ที่เข้าเกณฑ์ความเสี่ยงมาแล้วร่วม 2 สัปดาห์ ทาง จ.เชียงราย จึงจะเพิ่มมาตรการตรวจสอบกลุ่มเสี่ยงในอีก 7 วันข้างหน้า เพื่อขยายผลไปยังกลุ่มญาติของผู้ป่วยทั้ง 9 ราย เพิ่มเติมอีกประมาณ 1,000 คน พื้นที่ อ.แม่สาย อ.แม่จัน อ.เมือง อ.เทิง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าพื้นที่ทั้งหมดปลอดภัยอย่างแน่นอน ซึ่งกรณีศึกษาผู้ป่วยทั้ง 9 ราย ของ จ.เชียงราย ที่ผ่านมาคือ 3 ราย มีอาการปอดอักเสบจนต้องให้ยาต้านไวรัส แต่ไม่ถึงขั้นต้องใส่ท่อหายใจ ส่วนอีก 6 ราย มีอาการน้อยจนไม่ต้องให้ยาต้านไวรัสใดๆ แต่ทั้งหมดต้องผ่านเกณฑ์รักษาจนหาย และดูอาการตามมาตรฐาน ขอให้สังคมเข้าใจว่าคนเหล่านี้ ไม่เป็นอันตรายแน่นอน

นายภาสกร กล่าวว่าที่ผ่านมา จ.เชียงราย ได้ใช้มาตรการให้อยู่บ้าน เพื่อดูอาการผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศที่มีความเสี่ยง จำนวน 2,000 กว่าราย ส่วนใหญ่หมดระยะเวลา 14 วันแล้ว คงเหลือเพียง 64 ราย และผู้มาจากต่างประเทศแล้ว ต้องกักตัวในสถานที่ที่กำหนด จำนวน 27 ราย ส่วนผู้ที่มาจากกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีเกือบ 8,000 ราย และเหลือที่กักตัวไม่ครบ 14 วัน อยู่เพียงประมาณ 1,311 กว่าราย และทั้งหมดจะหมดระยะเวลากักดูอาการ 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย.นี้ และหากพื้นที่ภายในจังหวัดปลอดโรคแล้ว ก็ยังคงเหลือการเดินทางเข้าไปเพิ่มเติม ซึ่งกรณีของถนนสายต่างๆ ถือว่าควบคุมได้เพราะตั้งแต่มีการปิดเส้นทาง ก็มีผู้เข้ามาในจังหวัดน้อยลง โดยมีเพียงคนจีนที่เดินทางขาออกเพื่อกลับประเทศจีนสัปดาห์ละ 1 ครั้งในทุกวันเสาร์ ส่วนสายการบินภายในประเทศ มีเพียงวันละประมาณ 40 คน ส่วนถนนเข้าสู่จังหวัด 4 สาย มีผู้ใช้ถนนวันละประมาณ 3,000 คน โดยมาทางถนนพหลโยธินสายเชียงราย-พะเยา วันละประมาณ 1,000 ราย ถนนสายเชียงราย-เชียงใหม่ วันละประมาณ 500 ราย ส่วนไปทาง อ.เชียงคำ จ.พะเยา และ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ มีรวมกันเพียงประมาณ 500 ราย ทำให้สามารถดูแลได้ทั่วถึง

นพ.ไชยเวช กล่าวว่า แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะเป็นศูนย์แต่ก็ประมาทไม่ได้ เพราะหากกลับสู่ความประมาทตัวเลขอาจจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนับหมื่นราย แล้วก็จะไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ โดยเฉพาะเดือน พ.ค.ซึ่งจะมีผู้เดินทางกลับกันมาก หากมีการผ่อนปรนมาตรการต่างๆลดลง โดยในช่วงระยะเวลา 2-3 สัปดาห์นี้ ทางเจ้าหน้าที่จะได้เตรียมบุคลาการ ซ้อมแผน จัดเตรียมอุปกรณ์ จัดสถานที่เพิ่มเติมจากโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ไปยังโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) หรือโรงแรมบางแห่ง เพื่อรับมือกับไวรัสโควิด 19 ของ จ.เชียงราย โดยจำลองเหตุการณ์ว่าพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ประมาณ 1,000 ราย เป็นผู้ป่วยไม่หนัก จำนวน 800 ราย อาการหนัก 150 ราย หนักมาก 50 ราย โดยในกรณีหนักมาก ประมาณ 30-50 ราย ต้องใช้ท่อช่วยหายใจ

ร่วมแสดงความคิดเห็น