อาคารเวชศาสตร์ฟื้นฟู รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ ปรับปรุงใหม่ เป็นหอผู้ป่วย รองรับผู้ป่วยโควิด-19

อาคารเวชศาสตร์ฟื้นฟู เดิมเป็นอาคารของ “โรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่” ก่อตั้งครั้งแรกในปี พ.ศ. 2482 เพื่อขยายงานด้านการตรวจรักษาประชาชนชาวเชียงใหม่ เพิ่มเติมจาก “โรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่” ที่ตั้งอยู่ที่ถนนวิชยานนท์ ใกล้สี่แยกวัดอุปคุต ซึ่งรับผู้ป่วยในได้เพียง 11 เตียง โดยทางเทศบาลได้ซื้อที่ดินบริเวณนอกประตูสวนดอก เนื้อที่ทั้งหมด 30 ไร่ 80 ตารางวา ในราคา 5,200 บาท โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งหมด 38,225 บาท ตัวอาคารเป็นตึก 2 ชั้น ยาว 40 เมตร กว้าง 12 เมตร ต่อมาได้โอนกิจการไปขึ้นกับกรมสาธารณสุขในปี พ.ศ. 2488 แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลนครเชียงใหม่”

 

ในปี พ.ศ. 2503 ได้โอนย้ายจาก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มาสังกัด คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ได้ย้ายโรงพยาบาลจากอาคารแห่งนี้ไปยังอาคาร 7 ชั้นในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2512 จวบจนวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2526 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่”
อาคารเวชศาสตร์ฟื้นฟูแห่งนี้ ได้ผ่านการปรับปรุงใหญ่ในปี พ.ศ. 2555 และปัจจุบันได้รับการปรับปรุง เพื่อรองรับการดูแลผู้ป่วย COVID-19 ซึ่งถือว่าได้กลับมารับภารกิจอันยิ่งใหญ่ ของอาคารประวัติศาสตร์ อายุ 81 ปี แห่งนี้อีกครั้ง

ร่วมแสดงความคิดเห็น