ไทยลีก 1-2 หยุดยาว หลายสโมสรเลิกสัญญา นักเตะอาจจตกงานยาว

แบกไม่ไหว! สโมสรเจอช่องลอยแพ-เลิกสัญญานักเตะ ไม่ใช่แค่หักค่าจ้าง 50 เปอร์เซ็นต์ เผยสโมสรแบกภาระไม่ไหว ยกเลิกสัญญา-ลอยแพแข้งไทยลีกช่วงไร้เกม 5 เดือนแล้ว รอ “ล้างไพ่ใหม่” ไว้จะเตะค่อยเซ็นอีกที มีช่องทางให้ลงทะเบียนใหม่หมด ก่อนเริ่ม

พาทิศ ศุภะพงษ์ รักษาการเลขาสมาคมฯ ชี้ ทั้ง 2 ฝ่ายต้องเจรจากันเอง เป็นความยินยอมตามที่ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย, บริษัท ไทยลีก จำกัด ได้ประชุมร่วมกับสโมสรไทยลีก 1-2 เมื่อวันที่ 14 เม.ย. มีมติให้ทุกลีกพักการแข่งขันต่อเนื่อง และมาเริ่มแข่งอีกครั้ง เดือน ก.ย. แล้วจะเตะยาวถึงเดือน พ.ค. ปีหน้า ขณะเดียวกัน มีมติให้สโมสรลดค่าจ้างนักเตะ และเจ้าหน้าที่ลงได้ 50 เปอร์เซ็นต์ พร้อมนำมตินี้ไปแจ้ง สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ป้องกันการฟ้องร้องภายหลัง

อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวว่า จากผลกระทบที่ไม่มีแข่งขัน ทำให้สโมสรขาดรายได้ มีปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนัก มาตรการของสโมสรต่าง ๆ ไม่ใช่เพียงลดค่าจ้าง 50 เปอร์เซ็นต์ แต่มีการลดมากกว่านั้น โดยเป็นการยินยอมพร้อมใจทั้ง 2 ฝ่าย นอกจากนี้ บางสโมสรแบกรับการจ่ายค่าจ้างในช่วงไม่มีแข่งไม่ไหว ตัดสินใจยกเลิกสัญญานักเตะ หลังจากจ่ายงวดสุดท้ายเดือน เม.ย. โดยวางแผนจะฟอร์มทีมใหม่ เซ็นสัญญานักเตะ ส่งชื่อลงทะเบียนกันใหม่หมด ก่อนฟุตบอลไทยลีกจะเริ่ม ไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง ช่วงไม่มีแข่งขัน

เรื่องนี้ นายพาทิศ ศุภะพงษ์ รักษาการเลขาธิการสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ให้ข้อมูลว่า จากกำหนดการเปิดลีกอีกครั้งเดือน ก.ย. สโมสรสมาชิกเห็นชอบให้ปรับการลงทะเบียนนักฟุตบอล เป็นเหมือนการเริ่มต้นฤดูกาลใหม่ คือลงทะเบียนใหม่ทั้งหมด

เมื่อถามว่า การลงทะเบียนใหม่หมด จะเปิดโอกาสให้สโมสรยกเลิกสัญญานักเตะหรือไม่ นายพาทิศ ตอบว่า ไม่อยากให้เรียกว่าเป็นการเปิดโอกาสนั้น แต่ว่าขึ้นอยู่กับการเจรจาระหว่างสโมสรกับนักเตะในช่วงที่ไม่มีการแข่งขัน มติในที่ประชุมคือให้ไปเจรจา เพื่อให้สโมสรนั้นลดภาระในช่วง 5 เดือน ให้สโมสรสามารถพยุงตัวเองให้รอดจากช่วงที่ขาดรายได้ทั้งจากผู้สนับสนุน, บัตรเข้าชม หรือการถ่ายทอดสด

พาทิศ ศุภะพงษ์ กล่าวต่อไปว่า ในบางมุมอาจจะมองว่าสโมสรสามารถยกเลิกสัญญากับนักเตะได้ แต่จริง ๆ แล้วนักเตะก็คือคนที่ต้องทำงานร่วมกับสโมสร ถ้า 5 เดือนข้างหน้ากลับมาแข่งขันกันได้ ยังไงสโมสรก็ต้องการนักฟุตบอลอยู่ดี ดังนั้นสโมสรต้องรักษาสัญญากับนักเตะเช่นกัน ดังนั้นมันจึงไม่ใช่การยกเลิก แค่ปรับตัวให้สโมสรอยู่รอดในช่วงนี้ไปได้

“5 เดือนจากนี้ สโมสรไม่มีรายได้ แต่พอกลับมาแข่ง มีรายได้เหมือนเดิม ก็ต้องจ่ายเต็มจำนวน ไม่ปรับลดใด ๆ ทั้งสิ้น และยังต้องจ่ายไปถึงเดือน พ.ค. ปีหน้า จากเดิมที่ทำงบประมาณไว้แค่สิ้นปีเท่านั้น ดังนั้นนี่เป็นช่วงเวลาที่ต้องช่วยกันทุกฝ่าย ปรับปรุงสัญญากันว่าจะมีทางออกแบบไหนได้บ้าง ต่อให้เป็นสโมสรใหญ่ก็ใช่ว่าจะมีเงินถุงเงินถัง แม้ว่าจะมีกิจการอื่น ๆ ก็โดนผลกระทบ รายได้ลดลงเช่นกัน ดังนั้นทุกทีมก็ต้องหาทางแก้ไขในเรื่องนี้” นายพาทิศ กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น