นักวิชาการห่วงใย นักเรียน นักศึกษาหยุดยาวช่วงโควิด หวั่นปัญหาเพศสัมพันธ์ หากไม่ได้รับความรู้ที่ถูกต้องเพียงพอ 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อรอนงค์ ธรรมจินดา อาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์แมคคอร์มิค มหาวิทยาลัยพายัพ  เผยว่าในทุกวันนี้เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อระบบการศึกษาโดยที่สถาบันการศึกษาทุกระดับจำเป็นต้องหยุดการเรียน การสอน และเปลี่ยนรูปแบบเป็นการเรียนออนไลน์ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบหลาย ๆ ด้านต่อนักเรียน นักศึกษาที่ไม่เฉพาะด้านการเรียนเท่านั้น แต่ยังเป็นพฤติกรรมด้านอื่น ๆ ด้วย โดยเฉพาะการที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยหยุดยาวจากสถานการณ์ดังกล่าว เยาวชนจำนวนมากจึงอาจมีเวลาว่างมากเกินไปและกระทำเรื่องที่น่าเป็นห่วงสำหรับผู้ปกครอง อย่างเช่นการมีเพศสัมพันธ์ก่อนเวลาอันควรเป็นต้น

ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าประเทศไทยยังคงประสบปัญหาที่เกิดจากความไม่รู้ในเรื่องเพศวิถีศึกษาของเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีพัฒนาการตามวัยและตามใจ ไม่ว่าจะจากฮอร์โมนเพศ หรือความอยากรู้อยากลอง ทำให้ยังคงมีการรายงานอัตราตั้งครรภ์วัยรุ่น และผู้ป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธุ์ที่ยังมีอายุน้อยอยู่ ความท้าทายที่สำคัญสำหรับวัยรุ่นในประเทศไทยคือสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ วัยรุ่นไทยเริ่มมีเพศสัมพันธุ์ตั้งแต่อายุยังน้อย สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพทางเพศโดยไม่ต้องผ่านการยินยอมจากผู้ปกครอง นอกจากนี้วัยรุ่นหลายคนยังพร่องความรู้เกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธุ์ โดยเฉพาะการติดเชื้อเอชไอวี จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าเกือบร้อยละ 50 ของผู้ติดเชื้อเอดส์รายใหม่ เป็นผู้ที่มีอายุระหว่าง 15-24 ปี (Unicef, 2561) รวมถึงอัตราการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นในประเทศไทยยังมีมากเป็นสามเท่าของประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียหรืออาจกล่าวได้ว่าในแต่ละวันมีเด็กสาวอายุ 15-19 ปี มาคลอดบุตรมากถึง 199 คน หรือในแต่ละปีมีเด็กทารกมากกว่า 70,000 คนที่คลอดจากแม่วัยรุ่น ส่วนสาเหตุของการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ของวัยรุ่นไทย พบว่าวัยรุ่นหญิงที่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ไม่ทราบความหมายที่ถูกต้องของการมีเพศสัมพันธุ์ ถึงแม้ว่าจะสามารถบอกวิธีการป้องกันการตั้งครรภ์ได้ แต่สาเหตุของการตั้งครรภ์ส่วนใหญ่มาจากการคุมกำเนิดไม่สม่ำเสมอ นอกจากนี้วัยรุ่นยังมีระบุว่าการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่มีความอยากรู้อยากลอง การมีแฟนและเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องปกติ (Unicef, 2561) พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 จึงเกิดขึ้นเพื่อลดการตั้งครรภ์ของแม่วัยรุ่นลง 2 ใน 3 ส่วนภายในปี 2573 โดยหนึ่งในข้อเสนอแนะเพื่อช่วยลดปัญหาดังกล่าวข้างต้น คือให้วัยรุ่นและเยาวชนได้เรียนเพศวิถีศึกษารอบด้าน โดยปรับหลักสูตรและเนื้อหาวิชาให้เหมาะสม เข้าใจง่ายและเริ่มสอนให้เร็วขึ้น (สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์, 2559)

จากปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับวัยรุ่นและสังคมไทยดังที่กล่าวมา และแนวทางการลดความเสี่ยงของการตั้งครรภ์วัยรุ่น จึงได้มีการศึกษาแนวทางการสอนเพศวิถีศึกษาโดยใช้เกมเป็นสื่อ โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก British Academy Newton Mobility Grant ประเทศอังกฤษ ในการศึกษานี้ผู้เขียนได้สอบถามความคิดเห็นของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และครูผู้สอนจาก 6 โรงเรียนในจังหวัดเชียงใหม่เกี่ยวกับความสนใจการเรียนเรื่องเพศวิถีศึกษา ลักษณะเกมที่นักเรียนชอบ เพื่อหาแนวทางในการจัดทำเกมเพศวิถีศึกษาที่สอดคล้องกับการสอนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ หลังจากได้ข้อมูลแล้วจึงนำมาผลิตเกมให้ครูและนักเรียนส่วนหนึ่งลองเล่นและปรับปรุงตามข้อเสนอแนะก่อนนำไปให้นักเรียนชั้น ม. 1 ทดลองเล่นเกมความรู้ดังกล่าว ซึ่งจากการวิจัยในครั้งนี้พบว่าก่อนเล่นเกมนักเรียนชั้น ม. 1 ร้อยละ 50 มีความรู้ ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับ บทบาททางเพศ พัฒนาการทางเพศ และการป้องกันตนเองจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ นอกจากนี้ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการกินยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน และการใช้ถุงยางอนามัยอีกด้วย นักเรียนร้อยละ 90 พึงพอใจกับเกมที่ช่วยเพิ่มความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศ เพราะสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองนอกห้องเรียน สามารถสนทนาแลกเปลี่ยนกับเพื่อนได้ แม้จะไม่สนุกและท้าทายเท่าที่ควร แต่ก็ได้รับความรู้ที่ถูกต้องเพิ่มขึ้นหลังจากเล่นเกม เด็กนักเรียนยังระบุว่ามีความตระหนักเกี่ยวกับการป้องกันการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรและการมีเพศสัมพันธุ์อย่างปลอดภัยมากขึ้น

ดังนั้นการสอนเพศวิถีศึกษา ที่เหมาะสม เข้าใจง่ายและเริ่มสอนให้เร็วขึ้นจึงนับเป็นแนวทางที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายของประเทศได้มากขึ้น และการสอนเพศวิถีศึกษายังมีความจำเป็นมากกว่าจะเป็นการชี้โพรงให้กระรอก ผู้ปกครองจึงต้องเปิดใจยอมรับให้มีการสอนเรื่องเพศวิถีศึกษาแก่เด็กตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะนับวันเด็กเหล่านี้จะมีโอกาสมีเพศสัมพันธุ์เมื่ออายุน้อยลงไปทุกที จากปัจจัยแวดล้อมที่ส่งเสริมเด็ก เช่นการมีสื่อออนไลน์ที่เด็กสามารถเข้าถึงได้โดยอิสระ การนัดพบเพื่อนต่างเพศผ่านสื่อออนไลน์ที่เป็นไปได้โดยง่าย และเด็กส่วนใหญ่มีช่องทางเข้าถึงสื่อเหล่านี้จากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีใช้ส่วนตัว การให้ความรู้เรื่องเพศที่ถูกต้อง จึงเหมือนการติดอาวุธให้เด็กน่าจะเป็นทางป้องกันที่ดีที่สุดในสภาพสังคมปัจจุบัน ก่อนที่จะสายเกินไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น