ผลผลิตล้นตลาด ช่วยอุดหนุนผลไม้ท้องถิ่นตามฤดูกาล

คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แจ้งว่าการประชุมคณะกรรมการพัฒนา และบริหารจัดการผลไม้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางบริหารจัดการผลไม้ ปี 2563 โดยมุ่งเน้นว่าจะต้องมีข้อมูลการผลิตที่ชัดเจน เพื่อเชื่อมโยงตลาดผู้ซื้อได้อย่างเหมาะสม ให้คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกร อันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) บริหารจัดการผลไม้แบบเบ็ดเสร็จ ให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่เป็นธรรม มีราคามาตรฐาน

ด้านสำนักงานพาณิชย์แต่ละพื้นที่ ต้องรับผิดชอบด้านการตลาด การกระจายผลผลิตออกนอกพื้นที่ให้มีความคล่องตัว ส่งเสริมการจำหน่ายผลผลิตผ่านช่องทางสมัยใหม่ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ที่สำคัญคือการบริหารจัดการผลผลิตส่วนเกิน ต้องเตรียมแผนรองรับ

ทั้งนี้ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น บรรดาล้งในแต่ละพื้นที่ชะลอการรับซื้อ ซึ่งช่วง ม.ค.-มี.ค. 2563 ที่ผ่านมาเ ห็นชัดเจนว่า ตลาดได้รับผลกระทบ การซื้อขายไม่คล่องตัว ผลผลิตนอกฤดู เช่น ลำไยนอกฤดูปกติช่วงตรุษจีน ช่วงเช็งเม้งราคาจะสูงแต่ราคากลับรูดลง แทนที่จะได้ราคา 40-50 บาท/กก.เหลือครึ่งเดียว มิหนำซ้ำบางสวนมีการตกลงซื้อขายล่วงหน้า เหมาสวนไว้ ก็กดราคาลง ชาวสวนก็ไม่อยากค้าความ กับล้งหรือพ่อค้าคนกลางที่คุ้นเคยกัน ส่วนใหญ่ ก็ยอมขาย หรือ เก็บผลผลิตออกมาเร่ขายส่งตามแหล่งค้าส่ง ค้าปลีกในพื้นที่ก็มี

ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร ในฐานะคณะทำงานและที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ ยืนยันว่า ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด ทุกพืช ผลไม้เศรษฐกิจสำคัญในแต่ละภูมิภาค เช่นไม้ผลเศรษฐกิจภาคเหนือ ปี 2563 ประเมินว่า ลำไยในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ จะมีผลผลิตรวม 699,815 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 เป็นลำไยในฤดู 439,850 ตัน ลำไยนอกฤดู 259,965 ตัน ผลผลิตออกสู่ตลาดมากสุด ส.ค. ส่วนลิ้นจี่มีผลผลิตรวม 33,873 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 62 กว่า 11,783 ตัน หรือร้อยละ 53.34 ผลผลิตออกสู่ตลาดมากสุด พ.ค.ซึ่งก็คือเดือนหน้า ต้องเร่งเตรียมรับมือ

ในขณะที่กลุ่มล้งในพื้นที่ภาคเหนือ กล่าวว่า การบริหารจัดการของล้งก็มีความเสี่ยงด้านราคาส่งออก เช่นกัน ไม่ใช่เป็นฝ่ายที่สังคมยัดเยียดว่าเอาเปรียบชาวสวน ชาวไร่ ประเด็นตอนนี้คือตลาดค้าส่งผักและผลไม้เจียงหนาน ตลาดเจียซิง ตลาดหลงอู่ ตลาดห้วยจ่าน และตลาดซ่านหนงพีทั้งหมดเปิดปกติ แต่การจับจ่ายซื้อขายยังช้า ที่ผ่าน ๆ มา กลุ่มล้ง กลุ่มส่งออกที่ทยอบส่งผลผลิตไปจีน บางตู้คอนเทนเน่อร์ มีปัญหาจากการปล่อยของล่าช้า สินค้าเสียหาย หรือคุณภาพด้อยลงจากการเก็บไว้นาน เน่าเสีย เช่น ขนุน ทุเรียน มะพร้าวอ่อน ต้องยอมขายขาดทุน ช่วงนี้ สินค้าขายไม่ดีและได้รับความเสียหายประกอบกับผู้ซื้อ ผู้ขาย ส่วนหนึ่งใช้ระบบร้านค้าผลไม้ ออนไลน์ ทำให้ระบบตลาดสด ไม่ว่าจะเป็นตลาดค้าส่งผลไม้ซินฟาตี้ กรุงปักกิ่ง ได้รับผลกระทบมาก ยอดนำเข้าผลไม้ไทยลดลง 50-60% การระบาดของโรคโควิด-19 ได้สร้างความตื่นตระหนกให้ชาวจีนทั้งประเทศ ส่วนใหญ่เลือกอยู่บ้าน หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในที่ชุมชน ตลาด เป็นต้น

เครือข่ายเกษตรกรชาวสวนผลไม้ ภาคเหนือ (เชียงใหม่ ) กล่าวว่าปัจจุบันไม้ผล 3 ชนิด ทั้ง ทุเรียน มังคุด และลำไยทำรายได้เข้าประเทศปีละกว่าแสนล้านบาท คาดว่าปี 2563 นี้ ไทยส่งออกทุเรียนไปจีนประมาณ 6 แสนตัน และตลาด ในต่างจังหวัด ก็เป็นตลาดหลักของทุเรียน จะเห็นว่าตามกาดเมืองใหม่ มีผู้คนไปจับจ่ายเลือกซื้อกันหนาตา

ดังนั้นการช่วยกันอุดหนุนผลไม้ ผลผลิตในบ้านเราไม่ว่าจะ ทุเรียน, ลิ้นจี่, ลำไย ที่มีผลผลิตเพิ่มจากการขายพื้นที่ปลูก แม้จะมีบางส่วนของแหล่งปลูกเผชิญภัยแล้ง แต่ปริมาณผลผลิตคาดว่าจะล้นตลาด การจำหน่ายผ่านค้าปลีก เครือข่ายสหกรณ์ และการแปรรูปมาตรการด้านการตลาดในประเทศ เพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายผลักดันให้จำหน่ายออนไลน์ รณรงค์การบริโภคผลไม้ในประเทศ น่าจะช่วยเกษตรกร ชาวสวนค้าขายผลผลิตได้ตามที่คาดหวัง สำหรับการเปิดสวน ชิม ซื้อผลไม้ ในสถานการร์เช่นนี้คงยาก เนื่องจากมาตรการควบคุม ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทางรอดของผลผลิตล้นตลาดตามฤดูกาล คงเป็นเรื่องการตลาดออนไลน์ อาศัยช่องทางส่งด่วน ถึงผู้ซื้อ น่าจะเป็นรูปแบบที่ภาครัฐฯควรเร่งสนับสนุน โดยเดือน พ.ค. 2563 นี้ ลิ้นจี่ภาคเหนือ จะออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมากด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น