(มีคลิป) กลุ่มตัวแทนเครือข่าย นศ.มช. อ่านแถลงการณ์ ให้ทาง มช. ลดค่าเทอม 30% หลังผลกระทบโควิด-19 เตรียมเดินหน้ายื่นหนังสือถึงผู้บริหาร 

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 24 เม.ย.63 รายงานข่าวแจ้งว่า ที่บริเวณบันไดทางขึ้นอาคาร 3 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลุ่มตัวแทนเครือข่ายนักศึกษา จำนวนกว่า 20 คน ได้ร่วมกันชุมนุมเพื่ออ่านแถลงแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ลดค่าธรรมเนียมการศึกษาถ้วนหน้า 30% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยมี นายธนาธร วิทยเบญจางค์ นักศึกษาปริญญาตรี ปี 1 คณะมนุษยศาสตร์ สาขาปรัชญาและศาสนา พร้อมด้วย นายสฤษดิ์ สิริธีรธำรง นักศึกษาปริญญาโท คณะสังคมศาสตร์ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา และน.ส.รสริน คุณชม นักศึกษาปริญญาโท คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ เป็นตัวแทนในการอ่านแถลงการณ์ดังกล่าวในครั้งนี้

โดยทางตัวแทนนักศึกษาที่ชุมนุมครั้งนี้ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาส่งผลกระทบในวงกว้างทั่วประเทศไทย และได้ออกมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส มาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ อาทิ ธุรกิจห้างร้าน สถานบริการ และกิจการส่วนตัวต้องปิดกิจการ หรือลดจำนวนการจ้างงานลง ก่อให้เกิดภาวะตกงานประชาชนขาดรายได้ในการยังชีพท่ามกลางวิกฤตประชาชนต้องเผชิญหน้ากับปัญหาทางเศรษฐกิจอันหนักหน่วง แม้ว่ารัฐบาลได้ ดำเนินมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบบ้างแล้ว แต่มาตรการช่วยเหลือมีความล่าช้า และไม่เพียงพอต่อการบรรเทาความเดือดร้อน ประกอบกับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่รายได้กลับลดลง ทำให้ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษากลายเป็นภาระที่หนักหนาสาหัส สำหรับครอบครัวชนชั้นกลางระดับล่าง ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ต้องแบกรับ

เครือข่ายนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกอบด้วย กลุ่มนักศึกษาบัณฑิตศึกษาระดับปริญญาโท-เอก ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา สมัชชาเสรีประชาธิปไตยแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พรรคนักศึกษายวุธิปัตย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชมรมประชาธิปไตย สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ศิษย์เก่า และนักศึกษาจำนวน 1,364 คน จึงใคร่ขอเสนอให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินการลดค่าธรรมเนียม การศึกษาลง 30% จากค่าธรรมเนียมการศึกษาเดิมตั้งแต่ภาคการศึกษาฤดูร้อน (2562) เป็นต้นไป โดยให้เป็นนโยบายกลางที่กำหนดจากมหาวิทยาลัยเป็นมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนอย่างเท่าเทียม และถ้วนหน้าแก่นักศึกษาทุกคน ทั้งนี้ การเรียนในปัจจุบันต่างก็เข้าสู่ระบบออนไลน์ทั้งสิ้นแล้ว และนักศึกษาไม่สามารถเข้าใช้บริการต่าง ๆ ที่จัดให้โดยมหาวิทยาลัย การลดค่าธรรมเนียมการศึกษาลงในอัตตราดังกล่าว จึงถือว่าสมเหตุสมผลแล้ว

จากการที่ ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (กบม.) ได้มีมติที่ประชุมออกมาเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 ยืนยันในมาตรการเดิมของมหาวิทยาลัย ในการที่ลดค่าธรรมเนียมการศึกษาลง 10% โดยจะจัดสรรทุนให้เปล่าเฉพาะนักศึกษาที่มีปัญหา และจัดตั้งกองทุนให้ยืมเงิน 250 ล้านบาทน้ัน ทางเครือข่ายนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขอแสดงจุดยืนในการคัดค้านมติ กบม.ดังกล่าว ด้วยข้อคิดเห็นสำคัญ 3 ประการดังต่อไปนี้

1. การที่คณะผู้บริหารฯ อ้างว่า การลดค่าธรรมเนียมการศึกษา จำนวน 10% นั้น เป็นการที่ มหาวิทยาลัยยึดตามมติที่ประชุม ทปอ.ทางเครือข่ายนักศึกษามีความเห็นว่ามติที่ประชุม ทปอ. นั้นกำหนดให้ ลดค่าธรรมเนียมการศึกษาลงในอัตตรา 10% “เป็นอย่างน้อย” ทั้งนี้ให้ขึ้นกับสภาพและเงื่อนไขของแต่ละมหาวิทยาลัยไปพิจารณา เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่านักศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่ยากจน ผู้ปกครองของนักศึกษาส่วนใหญ่มีฐานะปานกลางไปจนฐานะที่ยากจน การต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจหยุดชะงักในปัจจุบัน ได้สร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวง ต่อการสนบัสนุนการเรียน ของบุตรหลานในปัจจุบัน ตัวเลขการลดค่าธรรมเนียมการศึกษาลง 10% ซึ่งถือเป็นตัวเลขขั้นต่ำที่สุดที่ตก ลงในมติ ทปอ. จึงถือว่าเป็นตัวเลขการลดค่าธรรมเนียมการศึกษาที่ต่ำเกินไป และไม่เพียงพอต่อการ ช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับนักศึกษาอย่างแท้จริง

 

2. เครือข่ายนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขอยืนยันในหลักการสำคัญที่ว่าสิทธิในการเรียกร้องเพื่อการศึกษาที่เป็นธรรมนั้น เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของนักศึกษาในฐานะที่เป็นเจ้าของมหาวิทยาลัยที่แท้จริง มหาวิทยาลัยนั้นถูกจัดตั้งขึ้น เพื่อประโยชน์แก่นักศึกษาและประชาชนในสังคม และการที่มหาวิทยาลัยสามารถดำรงอยู่ได้ ก็ด้วยค่าธรรมเนียมการศึกษาของนักศึกษา และด้วยภาษีของประชาชนที่ผ่านมายังรัฐ ดอกผลใด ๆ ที่ผลิบานออกมาจากการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ล้วนตั้งต้นมาจากเงินตราเหล่านี้ทั้งสิ้น ในแง่นี้มหาวิทยาลัยจึงเป็นสมบัติส่วนรวมของประชาชนและของสังคม เสียงของนักศึกษาในฐานะผู้เป็นเจ้าของร่วมในมหาวิทยาลัย จึงพึงถูกนับและรับฟังอย่างใส่ใจและให้ความสำคัญ โดยผู้บริหารพึงทำหน้าที่ในการรับผิดชอบต่อความต้องการของนักศึกษาที่มีเหตุมีผล และใส่ใจต่อสวัสดิภาพในชีวิตของนักศึกษา ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของมหาวิทยาลัยด้วย หากบรรดาผู้บริหารเห็นว่า ข้อเรียกร้องของนักศึกษานั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้หรือไม่สมควร สิ่งที่ผู้บริหารพึงกระทำคือ ชี้แจงให้นักศึกษาได้รับรู้ว่าเหตุใด จึงมิอาจตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของนักศึกษาได้อย่างมีเหตุมีผล

เป็นที่น่าเสียใจว่า ในตลอดเวลากว่า 2 สัปดาห์ ที่เครือข่ายนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพียร พยายามนำเสนอข้อเรียกร้องต่อผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ทางผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัย ไม่เคยเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เข้าแลกเปลี่ยน พูดคุยหรือนำเสนอข้อคิดเห็นเลยแม้แต่น้อย เครือข่ายนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงขอเรียกร้องให้อธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดให้มีการประชุมหารืออย่างกว้างขวาง โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษา ผู้ปกครองนักศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้สามารถแสดงความคิดเห็น และนำเสนอข้อเสนอในการแก้ปัญหาความเดือดร้อน จากค่าธรรมเนียมการศึกษาและปัญหาเศรษฐกิจอื่น ๆ อย่างแท้จริง

 

3. การที่คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย อ้างว่าหากดำเนินการลดค่าธรรมเนียมการศึกษาตามข้อเรียกร้อง เป็นจำนวน 30% นั้นจะกระทบต่อประสิทธิภาพการเรียนการสอนโดยตรง เป็นข้ออ้างที่ไม่ได้วางอยู่บนฐานความเป็นจริงของทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่มหาวิทยาลัยมีอยู่แต่อย่างใด เพราะหากอ้างอิงตามเอกสาร ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เมื่อปี 2562 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่น้ัน มีรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายสุทธิถึง 2,375 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินจำนวนมากพอที่จะนำมาใช้ช่วยเหลือนักศึกษาได้ รายได้มหาศาลนี้ เป็นรายได้นอกงบประมาณแผ่นดินที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยสามารถที่จะบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มสัดส่วนการลดค่าธรรมเนียมการศึกษาได้ กล่าวถึงที่สุดแล้วฐานคิดของการลดค่าธรรมเนียมการศึกษาเพียง 10% ที่คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยืนยันนั้น เป็นการด่วนสรุปตัวเลข ที่มองแต่เพียงผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัยเป็นที่ตั้งมากกว่า ที่จะคำนึงถึงผลประโยชน์ของนักศึกษาเป็นสำคัญ และเป็นวิธีคิดที่แยกขั้วตรงข้ามระหว่างผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัย และผลประโยชน์ของนักศึกษาที่ไม่สร้างสรรค์ ข้อเสนอของเครือข่ายนักศึกษาให้มหาวิทยาลัยลดค่าธรรมเนียมลง 30% นั้น ก็เพื่อที่ทั้งมหาวิทยาลัยและทั้งนักศึกษาในฐานะหุ้นส่วนที่เสมอภาคจะสามารถอยู่รอดร่วมกันได้

สุดท้ายนี้ กลุ่มเครือข่ายนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าแถลงการณ์ฉบับนี้ นอกเหนือจากเป็นการส่งเสียงไปยังคณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อรับฟังเสียงของนักศึกษาอย่างตั้งใจและจริงใจแล้ว ยังเป็นการส่งสาส์นไปยังเพื่อนนักศึกษาร่วมมหาวิทยาลัยทั้งมวล ได้ตระหนักถึงสิทธิในการศึกษาที่เป็นธรรม และสิทธิในการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของมหาวิทยาลัย เพื่อร่วมกันเรียกร้องให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ให้ทำหน้าที่สมกับการเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัย อย่างเป็นธรรมและรับผิดชอบต่อนักศึกษา อุดหนุนเกื้อหนุนให้พวกเราสามารถศึกษาเล่าเรียนได้อย่างมีศักยภาพ และสำเร็จ ในท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการชุมนุมและอ่านแถลงการณ์ในครั้งนี้ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและไม่ได้เกิดเหตุความวุ่นวายแต่อย่างใด โดยในวันพรุ่งนี้ (25 เม.ย. 63) ทางกลุ่มตัวแทนเครือข่ายนักศึกษา จะมีการรวมตัวกันอีกครั้ง เพื่อยื่นหนังสือดังกล่าวให้กับทางมหาวิทยาลัยต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น