ชลประทานยืนยัน ตลอดแล้งนี้เชียงใหม่มีน้ำใช้เพียงพอ

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ว่าเนื่องจากช่วงฤดู
ฝนที่ผ่านมา มีฝนตกเฉลี่ยทั้งจังหวัดเพียง 911 มม. น้อยกว่าค่าเฉลี่ยถึง 22% (ฝนเฉลี่ย 1,168 มิลลิเมตร) ส่งผลให้อ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติ รวมถึงแม่น้ำสายต่าง ๆ มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย กระทบต่อปริมาณน้ำดิบที่จะใช้ในการผลิตประปาหลายแห่ง

ทางกรมชลประทานไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการบริหารจัดการน้ำ
ในพื้นที่เชียงใหม่ เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคตลอดฤดูแล้งนี้ โดยใช้น้ำต้นทุนจาก เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 46.56 ล้าน ลบ.ม. หรือ18% ของความจุ และเขื่อนแม่กวงอุดมธารา มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 60.60 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 23 ของความจุ รวมทั้งใช้น้ำจากอ่างขนาดกลางอีก 12 แห่ง ที่มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 22 ล้าน ลบ.ม.

 

ทั้งนี้ได้มีการวางแผนจัดสรรน้ำเฉพาะการอุปโภคบริโภคในเขตชลประทานไว้อย่างเพียงพอ ไปจนถึงต้นฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง ภายใต้เงื่อนไขที่ทุกฝ่ายต้องร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด สำหรับมาตรการรับมือภัยแล้ง ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ปฏิบัติตามแผน อาทิ กลุ่มผู้ใช้น้ำต้องปฏิบัติตามมาตรการและแผนการใช้น้ำชลประทานอย่างเคร่งครัด การกำหนดให้มีการใช้น้ำในคลองส่งน้ำได้ตั้งแต่วันจันทร์ เวลา 09.00 น. ถึงวันศุกร์ เวลา 18.00 น. และหยุดใช้น้ำในวันเสาร์-อาทิตย์ สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าสามารถสูบน้ำได้ตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ ไม่เกินวันละ 10 ชั่วโมง และงดสูบน้ำในวันเสาร์-อาทิตย์ สถานีสูบน้ำของการประปาส่วนภูมิภาคและการประปาส่วนท้องถิ่น สามารถทำการสูบน้ำได้ตามปกติ ตามแผนที่ได้เสนอกรมชลประทานไว้แล้ว

 

พร้อมทั้งขอความร่วมมือให้งดการเลี้ยงปลาในกระชังทั้งในแม่น้ำปิง คลองส่งน้ำ และเหมืองส่งน้ำ ระหว่าง 1 ธันวาคม 2562 ถึง 15 พฤษภาคม 2563นี้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและควบคุมไม่ให้มีการปล่อยน้ำเสียลงในแม่น้ำ คู คลองแหล่งน้ำต่าง ๆ เนื่องจากจะทำให้ต้องระบายน้ำเพิ่มขึ้น เพื่อเจือจางน้ำเสีย จะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำที่จะใช้ในการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศน์ตลอดฤดูแล้งนี้
ในส่วนของการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติภัยแล้ง ของ จ.เชียงใหม่ ได้ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติภัยแล้งแล้ว 10 อำเภอประกอบด้วย อ.ฝาง อ.เชียงดาว อ.แม่อาย อ.แม่แตง อ.สันป่าตอง อ.ฮอด อ.อมก๋อย อ.ดอยหล่อ อ.กัลยาณิวัฒนา และ อ.ดอยเต่า พื้นที่ประสบภัย 18 ตำบล 216 หมู่บ้าน 67,608 ครัวเรือน และเตรียมสนับสนุนเครื่องจักร เครื่องสูบน้ำ และรถบรรทุกน้ำ เข้าไปช่วยเหลือพื้นที่ขาดแคลนน้ำอย่างต่อเนื่อง

 

โดยรถบรรทุกน้ำ ได้มีการนำน้ำไปแจกจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค (ช่วง 1-22 เม.ย. 63) รวมปริมาณน้ำกว่า 746,000 ลิตร ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 16 เครื่อง ช่วยเหลือพื้นที่เกษตร (ไม้ผลและไม้ยืนต้น) กว่า 5,000 ไร่ ปริมาณน้ำที่สูบสะสมประมาณ  2,505,000 ลบ.ม. โดยจะช่วยเหลือไปจนกว่าจะเข้าสู่ฤดูฝน หรือมีฝนตกชุกในพื้นที่สม่ำเสมอ
ด้านดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าจากการเข้าร่วมประชุมแผนการกำจัดผักตบชวา
และวัชพืช เพื่อเตรียมการรับน้ำหลากในฤดูฝน ปี 2563 ซึ่งมี พล.อ.ประวิทย์ วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านน้ำ เตรียมแผนรับมือน้ำหลากในฤดูฝน ปี 2563 ด้วยการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ อาทิ ผักตบชวาและวัชพืชต่าง ๆ ในทางน้ำชลประทานที่อยู่ในความดูแล ที่มีความยาวรวมกว่า 38,640 กม. แยกเป็นคลองส่งน้ำ 27,450 กิโลเมตร และคลองระบายน้ำ 11,190 กม. ทุกพื้นที่ในความรับผิดชอบแต่ละโครงการชลประทานจังหวัดต้องดำเนินการตามแผนโดยเคร่งครัด

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น