“กาดหลวง” เมืองเชียงตุง

เมืองเชียงตุง หรือ “เขมรัฐตุงคบุรี” เคยเป็นหัวเมืองเก่าแก่ของอาณาจักรล้านนาและมีประวัติการก่อตั้งเมืองมายาวนานกว่า 800 ปี ทั้งยังมีเจ้าผู้ครองนครปกครองที่มาจากต้นตระกูลเดียวกัน คือ ราชวงศ์มังราย
วิถีชีวิตของคนไตเขินเมืองเชียงตุง คล้าย ๆ กับคนเมืองล้านนา ทว่าเมืองล้านนาได้มีความเจริญในยุคสมัยใหญ่ส่วนเชียงตุงยังคงซ่อนตัวอยู่ ท่ามกลางกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลง ยุคแห่งความรุ่งเรืองของเมืองเชียงตุงอยู่ในรัชสมัยของเจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง ซึ่งทรงครองราชสมบัติในช่วงที่มหาอำนาจทางยุโรปกำลังขยายอำนาจในฐานะเจ้าอาณานิคม เมื่อราว 150 ปีก่อน เจ้าฟ้าของชาวไทเขินเชียงตุงพระองค์นี้ ทรงพระปรีชาสามารถและสร้างความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมากเมื่อมาเยือนเมืองเชียงตุง หากอยากเห็นวิถีชีวิตของคนไตเขินต้องมาดูที่ตลาดเช้า ทุก ๆ เช้าในตลาด (กาดหลวง) เมืองเชียงตุงจะคราคร่ำไปด้วยผู้คนจำนวนมากหลายเผ่าพันธุ์ ทั้งแม่ค้าชาวไทใหญ่ ไทขึน ไทลื้อ นำสินค้าพื้นเมืองมาวางขายปะปนกับเครื่องใช้อุปโภคบริโภค ในจำนวนนี้มีสินค้านำเข้าทั้งจากประเทศไทย จีนและเวียดนาม อีกด้านหนึ่งของตลาดจะเป็นสินค้าประเภทผัก ปลาและสินค้าพื้นเมืองจำพวกยาสูบ รวมถึงของป่าหายากอีกหลายชนิดกาดหลวงของเชียงตุงจะเริ่มตั้งแต่เช้ามืด เรื่อยไปจนถึงสายก่อนเที่ยง ที่นี่นอกจากจะมีสินค้าประเภทต่าง ๆ วางจำหน่ายแล้ว ยังมีร้านค้าขายอาหารพื้นเมืองหลายร้านอย่าง เช่น น้ำเงี้ยว ข้าวฟืน รวมถึงโรตีจากอินเดียที่ขายคู่พร้อมกับกาแฟ เครื่องดื่มจากต่างประเทศ
ปัจจุบันรัฐบาลเมียนม่า ได้เปิดเชียงตุงออกสู่สายตาโลกภายนอกอีกครั้ง หลังจากปิดตายดินแดนแห่งนี้มานานกว่า 50 ปี ทำให้เมืองแห่งนี้ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดในฐานะของดินแดน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยรุ่งเรืองไพบูลย์ด้วยระบบกษัตริย์ มีผู้คนจำนวนมากต่างใฝ่ฝันที่จะได้เดินทางเข้ามาเยือนเมืองแห่ง “อุดมคติ” แห่งนี้

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น