ชงห้ามขายเหล้า-เบียร์ต่ออีกระยะ เริ่ม 3 พ.ค. นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้หารือเกี่ยวกับข้อเสนอของหลาย ๆ ภาคส่วน เกี่ยวกับมาตรการที่หลายจังหวัด ประกาศห้ามจำหน่ายสุราในช่วงประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งหลายแห่งจะสิ้นสุดในวันที่ 30 เม.ย. 63 นี้
โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า ให้เป็นอำนาจการพิจารณาของผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัด ดำเนินการตามเหมาะสม ซึ่งมีแนวโน้มว่าอาจจะมีการเริ่มขยายระเวลาห้ามจำหน่ายไปอีกระยะ ตั้งแต่ 3 พ.ค. 63 นี้ หลังจากมาตรการควบคุม ห้ามจำหน่ายหลาย ๆ พื้นที่จะสิ้นสุด 30 เม.ย. 63 นี้

ทั้งนี้เครือข่ายงดเหล้าภาคเหนือ (เชียงใหม่) และเครือข่ายป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เชียงใหม่ ระบุว่ามาตรการดังกล่าว เป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากข้อมูลวิจัยของหลาย ๆ มหาวิทยาลัยในภาคเหนือ พบว่า มีนักดื่มหน้าใหม่ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป มีพฤติกรรมดื่มเหล้า เบียร์ กว่า 28% จากสถิตินักดื่มปัจจุบัน ในประเทศไทยที่มีร่วม ๆ 17-18 ล้านคน และมีร้านค้า แหล่งจำหน่ายสุราเบียร์ กว่า 583,880 แห่ง ซึ่งเป็น สถานที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายทั่วประเทศ
และสถิติช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประชากรชายอายุ 15 ปีขึ้นไป เสียชีวิตจากการดื่มสุราเฉลี่ย 17,000 รายต่อปี และผู้ชายมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าผู้หญิง จากการสำรวจการดื่มของวัยช่วง 16-25 ปี ให้เหตุผลว่าถูกเพื่อนหรือรุ่นพี่ ชักชวนให้ดื่ม ส่วนเหตุผลในการดื่มปัจจุบันนี้ คือ เพื่อต้องการเข้าสังคม รวมทั้งสังสรรค์ในงานรื่นเริง แม้จะมี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ที่ห้ามขายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในสถานที่ต่าง ๆ เช่น สถานศึกษา หอพัก ฯลฯ เพื่อหวัง จะช่วยลดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

“สถิติ การดื่ม และการเข้าถึงลดลงอย่างมากกว่า 57% ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาด เนื่องจาก มีเหตุผลที่ระบุว่า ไม่อยากเป็นกลุ่มเสี่ยงติดโรค และมาตรการห้ามจำหน่าย เหล้า เบียร์ ในพื้นที่ ทำให้เข้าถึงการดื่มยาก จนไม่อยากดื่ม”
กลุ่มคณะทำงานเครือข่ายเฝ้าระวังการดื่ม ภาคเหนือ ระบุว่า ที่ผ่าน ๆ มาในช่วงโควิด-19 ระบาดนั้น มาตรการห้ามขายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮฮอล์ มีระยะเวลาดำเนินการ ในแต่ละจังหวัดแตกต่างกัน รวมถึงระยะเวลาสิ้นสุดที่เคยกำหนดก่อนหน้านี้ ก็มีการปรับขยายเวลาจนสิ้นสุด 30 เม.ย. 63 นี้เป็นส่วนใหญ่ เกือบทั่วประเทศ

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น