ขายเหล้า-เบียร์ วันแรกวุ่น !

นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวว่า กรณีผ่อนปรนมาตรการเปิดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ห้ามดื่มในร้าน ซึ่งมีผลเมื่อ 3 พ.ค. 63 ที่ผ่านมา เป็นการเร็วเกินไปที่จะเปิดให้จำหน่ายสุราในช่วงนี้ น่าจะเป็นมาตรการท้ายที่สุดที่จะผ่อนปรน เพราะสุราไม่ใช่สิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวัน

ที่ผ่านมาผู้ลงแดงตายเพราะไม่ได้ดื่มสุรา ในกลุ่มคนที่ติดสุราอย่างหนักน้อยมากแทบไม่ปรากฎในรายงานทางการแพทย์เลย และองค์การอนามัยโลกได้ออกคำเตือนว่าสุราทำให้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 มากขึ้น เพราะทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายลดลง ถ้าภายใน 7-14 วัน ข้างหน้า หากมีการติดเชื้อมากขึ้นแล้วต้องปิดสถานที่ต่าง ๆ ที่ได้รับการผ่อนปรน ย่อมทำให้ธุรกิจอื่นๆได้รับผลกระทบด้วย

ด้าน เครือข่ายงดเหล้า ภาคเหนือ (เชียงใหม่) ระบุว่าปรากฎการณ์แห่แย่งซื้อเหล้า เบียร์กันเมื่อวานนี้ ในพื้นที่ต่าง ๆทั่วประเทศ และข้อเสนอแนะของ นพ.ธีรยุทธ รุ่งนิรันดร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งกล่าวถึงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในขณะที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกจากเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการทำร้ายตนเองหรือการฆ่าตัวตาย เป็นเรื่องที่คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อระดับจังหวัดควรตระหนัก ทบทวนมาตรการที่สุ่มเสี่ยงให้รอบคอบ

“อันตรายจากการดื่มมักจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ จะดื่มอย่างหนักมากขึ้น ซึ่งอาจจะนำไปสู่การเสียชีวิต หากดื่มในปริมาณที่สูงจะทำให้ผู้ดื่มเกิดอารมณ์ที่ผิดปกติ มีการตัดสินใจที่แย่ลง เพิ่มโอกาสเกิดความคิดฆ่าตัวตาย และอาจขาดสติ เกิดอารมณ์ชั่ววูบ ทำบางสิ่งบางอย่างจนกลายเป็นคดีความได้”

กลุ่มเฝ้าระวังเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ เครือข่ายงดเหล้า เชียงใหม่ กล่าวว่า น่าชื่นชมหลาย ๆ จังหวัดที่มีมาตรการห้ามขายเหล้า เบียร์ต่อไม่ว่าจะเป็นที่พิษณุโลก, เพชรบุรี, ลำปาง, ปทุมธานี, สระแก้ว, บุรีรัมย์, มุกดาหาร, จันทบุรี และเพชรบุรี กว่า 9 จังหวัด ซึ่งมั่นใจว่า หลังจากเหตุการณ์ชุลมุนในการแย่งซื้อของประชาชน ตามสถานที่ค้าส่ง, โมเดิร์น เทรดใหญ่ ๆ

ทั้งนี้ ทีมข่าวได้รับการเปิดเผยจากผู้นำชุมชน ในเขตเมือง, สันทราย เชียงใหม่ว่า การดื่มจนเมามาย ในภาวะยิ่งเครียด ยิ่งดื่มหนัก น่าจะส่งผลต่อการทบทวนมาตรการ เพราะคนเมา ก่อเหตุทะเลาะวิวาท เหตุรำคาญ เป็นเรื่องที่บั่นทอนจิตใจชาวบ้านคนอื่น ๆ ที่เครียดกับปัญหาปากท้องอยู่แล้ว

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ คณะกรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบท กล่าวว่ามาตรการ ให้ขายสุราได้นั้น เป็นความเสี่ยงที่อันตรายอาจจะทำให้โควิด รอบ 2 มาเร็วกว่าที่คิดไว้ ช่วงที่ห้ามขายลดคนตั้งวงดื่มได้มาก เพราะร้านค้าไม่กล้าขายกลัวความผิดตามมาตรา 52 พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ที่มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดตามมาตรา 18 พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

“การให้ซื้อกลับบ้านได้และหวังว่าจะซื้อไปดื่มคนเดียวนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะเหล้าดื่มเพื่อบรรยากาศ คนที่จะดื่มสุราคนเดียวก็คือคนที่ติดสุราเท่านั้น การห้ามขายสุราทั้งประเทศในช่วงที่ผ่านมา ถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโควิดได้ดี การจับกลุ่มตั้งวงดื่มสุรา เมื่อห้ามขายสุราจึงส่งผลให้การติดเชื้อลดน้อยลง”

ศูนย์วิจัยปัญหาสุรายังระบุว่า เหตุการณ์ประชาชน รวมถึงพ่อค้าแม่ค้าผู้ประกอบการค้าปลีกแห่ซื้อเหล้า เบียร์ หลังรัฐอนุญาตให้กลับมาขายได้ สะท้อนความอ่อนแอของระบบใบอนุญาตขายเหล้า เบียร์ของไทย แอลกอฮอล์ไม่ใช่สินค้าธรรมดา ในหลายประเทศ จะขายได้ต้องมีกระบวนการขออนุญาตหลายขั้นตอน บางเมืองต้องขออนุญาตจากชุมชน มีการจำกัดพื้นที่ห้ามขายในเขตที่พักอาศัย บางประเทศกำหนดความหนาแน่นของร้านเหล้าไม่ให้มีมากเกินไปในชุมชนเพื่อควบคุมผลกระทบจากการสำรวจวิจัยพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 90.5 ไม่ได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการห้ามขายสุรา และร้อยละ 77.6 ทราบดีว่าการดื่มสุราทำลายภูมิต้านทานของร่างกายและทำให้ติดเชื้อโควิดได้ง่ายขึ้น การผ่อนคลายให้ขายสุราได้ควรเป็นมาตรการสุดท้ายที่ผ่อนคลาย ไม่ควรเป็นเวลานี้ ไม่เช่นนั้นความพยายามที่ทำมาทั้งหมดอาจจะพังลง “ปี 2562 ประเทศไทยมีใบอนุญาตจำหน่ายเหล้า 587,356 ใบ เฉลี่ยมีร้านขายเหล้า เบียร์ 90.6 ร้านต่อประชากร 10,000คน เป็นอัตราที่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก และรายได้จากภาษีสรรพสามิตระบบการค้าเหล้า เบียร์ เมื่อเทียบผลกระทบที่ตามมาทั้งปัญหาเมาแล้วขับ มีการสูญเสียชีวิตปีละ 2-3 หมื่นคนจากอุบัติเหตุ ต้นตอจากดื่มหนัก ความเสียหายทรัพย์มูลค่า หลายแสนล้านบาทนั้น เทียบกันไม่ได้ แต่ละชีวิตไม่สามารถประเมินค่าที่ต้องจากไปเพราะเมา ดื่ม ขับ”

ร่วมแสดงความคิดเห็น