ภาคประชาสังคมค้านแก้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช หวั่นบรรษัทผูกขาดเมล็ดพันธุ์กระทบกัญชา-อาหาร

ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และมูลนิธิชีววิถี ไม่เห็นด้วยหากประเทศไทยต้อง แก้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช เพื่อเข้าร่วม กลุ่ม CPTPP ซึ่งเป็นความตกลงที่ครอบคลุมหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ FTA ใหม่ หวั่นเมล็ดพันธ์พืช และสิทธิเกษตรกร ถูกผูกขาด โดยเฉพาะเมล็ดพันธุ์กัญชาและผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์

จากการเสวนา “กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชกับอนาคตเมล็ดพันธุ์อาหารและการผูกขาดสายพันธุ์กระท่อมกัญชา” ที่มูลนิธิชีววิถี จังหวัดนนทบุรีเมื่อเร็วๆ นี้ ในวงพูดคุยยังมีข้อกังวลหลายเรื่อง โดยเฉพาะหากไทยเข้าร่วม CPTPP ในอนาคตที่จะส่งผลต่อเกษตรกร และพันธุ์พืชของไทย

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ประธานมูลนิธิชีววิถี ระบุว่า กฎหมายดังกล่าวที่กรมวิชาการเกษตร พยายามจะแก้ไข จะเป็นการตอบสนองต่อบริษัทเมล็ดพันธุ์มากกว่าตอบสนองต่อผลประโยชน์ของเกษตรกร เน้นย้ำหากประเทศไทยมีการแก้กฎหมายตาม UPOV1991 ประเทศไทยต้องยอมรับให้ได้ ถึงการให้สิทธิผูกขาดสายพันธุ์กัญชา ผลผลิตและผลิตภัณฑ์กัญชา รวมถึงการผูกขาดยาทางการแพทย์ ผูดขาดอาหาร เมล็ดพันธุ์จะแพงขึ้น

จากการวิเคราะห์ข้อมูล ผลกระทบทางด้านราคาเมล็ดพันธุ์พืชที่สำคัญของไทยประเทศไทย จากเดิมมีราคา 28,542 ล้านบาทต่อปี หากเข้าร่วม ราคาจะสูงขึ้น เป็น 80,721 ล้านบาทต่อปี ถึง 142,932 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ในเนื้อหาของร่างกฎหมายของกรมวิชาการเกษตรเสนอแก้ไข จะเป็นการเปิดโอกาสให้บรรษัทยักษ์ใหญ่เข้ามาผูกขาดพันธุ์พืชอย่างเข้มข้น ลงโทษเกษตรกรที่เก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ และในท้ายที่สุดจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ

ด้าน นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ FTA Watch ระบุว่า ในหลายประเทศ กำลังมีคำสั่งทบทวนการเข้าร่วมเป็นภาคี CPTPP  และมีการถอนตัวบ้างแล้ว และชี้อีกว่าภาคประชาสังคม ถึงแม้แต่กระทรวงสาธารณสุข ยังคงมีความกังวล ในกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชและสิทธิเกษตรกรไทย หากไทยเข้าร่วม CPTPP

ข้อกังวลของกระทรวงสาธารณสุขที่เกรงว่าอาจจะส่งผลกระทบหลังการเข้าร่วมภาคี  CPTPP   ประกอบด้วย ผลกระทบต่อการควบคุมยาสูบ  ผลกระทบต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นสมุนไพรยาวัคซีน ซึ่งล้วนความมั่นคงทางยาของประเทศไทยรวมถึง ผลกระทบต่อเครื่องมือแพทย์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์  และ ผลกระทบต่อการให้บริการด้านสุขภาพ

ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอให้ประเทศไทยให้ความสำคัญกับด้านสุขภาพ (health in all policies) หารือความชัดเจนและขอให้ยกเว้นความตกลงด้านสุขภาพและสาธารณสุขออกจาก CPTPP

ด้าน ผศ.ดร.สมชาย รัตนชื่อสกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ระบุถึง ระบบกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชที่คุ้มครองสิทธิเกษตรกร ระบุว่า หากไทยเข้าร่วม จะส่งผลต่อการพัฒนาสายพันธุ์พืช จากเดิมที่เกษตรกรสามารถเป็นเจ้าของเมล็ดพันธุ์ได้ กลับต้องไปซื้อเมล็ดพันธุ์ต่อจากบริษัทกลาง มีการขยายอำนาจ

โดยมีการเสนอกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชที่เป็นมิตรกับเกษตรกรไทย คือการกำหนดสิทธิเกษตรกรอย่างเป็นรูปประธรรมในกฎหมาย เพิ่มข้อกำหนดเพื่อปกป้องตัวเองของเกษตรกร เพิ่มกลไกทางกฎหมายเพื่อเยียวยาความเสียหายของเกษตรกร การจัดตั้งกองทุนเมล็ดพันธุ์เสรีเพื่อเกษตรกร

ทั้งนี้ CPTPP  เป็นข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ FTA ใหม่ที่เกิดขึ้นหลังจากสหรัฐอเมริกาถอนตัวออกไปจาก TPP  เมื่อ TPP เดินหน้าต่อไม่ได้ อีก 11 ประเทศสมาชิกที่เหลือจึงพยายามผลักดันข้อตกลง TPP เดิมต่อโดยใช้ชื่อ CPTPP  เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมในเรื่องการค้า การบริการ และการลงทุนเพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งในประเด็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ

ร่วมแสดงความคิดเห็น