ไม่มีสนามกีฬาให้เล่น! วัยรุ่น 3 ตำบล เลยพากันไปมั่วสุมเสพยา 

เมื่อค่ำวันที่ 4 พฤษภาคม 2563 ทางฝ่ายปกคตรองตำบลบ้านถิ่น ตำบลกาญจนา ตำบลสวนเขื่อน อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ได้รับแจ้งมาจากชาวบ้านว่า มีกลุ่มวัยรุ่นชาย-หญิงจำนวนหลายคน ไปมั่วสุมกันที่ บริเวณศาลาข้างทางบ้านหัวฝาย ตำบลกาญจนา หลังรับแจ้ง ผู้นำท้องถิ่นทั้ง 3 ตำบล ได้บูรณาการร่วมกับตำรวจสายครวจตำบลนาจักร เหมืองหม้อ และตำรวจสายตรวจ สภ.เมืองแพร่ เข้าทำการตรวจสอบ

จากการตรวจสอบ พบเด็กเยาวชน จำนวน 8 คน มั่วสุมกันอยู่ เมื่อตรวจสอบ พบยาดังรูปที่เด็กนิยมเสพกัน โดยผสมยาแก้ไอ หรือที่รู้จักกัน คือยาว๊าบ หรือ Tramadol ที่ระบาดหนักในเด็กนักเรียน ทางผู้นำท้องถิ่น ตำรวจที่เข้าร่วมตรวจสอบได้ประสานผู้ปกครองของเยาวชนทั้ง 8 คน มารับตัว ไปดำเนินการ

ทางฝ่ายปกครองของ ตำบลสวนเขื่อน ตำบลกาญจนา และตำบลบ้านถิ่น เป็นห่วงขอให้ผู้ปกครองช่วยตรวจสอบลูกหลานท่าน มียานี้พกติดตัวหรือไม่ เนื่องจากขณะนี้สนามกีฬาต่าง ๆ ที่เยาวชนไปเล่นกัน ได้ปิดลง ตามนโยบายของจังหวัดแพร่ ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ทำให้เยาวชนไปมั่วสุมกัน ขอให้ผู้ปกครองเยาวชนทั้ง 3 ตำบล ได้ช่วยกันสอดส่องดูแลบุตรหลานของตนเองด้วย

สำหรับ Tramadol นับว่าเป็นอันตรายสำหรับผู้ใช้ไม่เป็น ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จะพบข่าวปัญหายาเสพติดตามสื่อต่าง ๆ เป็นระยะ ๆ แม้จะมีกฎหมายออกมาควบคุม เพื่อป้องกันไม่ให้เข้าถึงยาเสพติดได้ง่ายแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีบุคคลที่พยายามนำพืชหรือยาที่หาได้ง่ายตามท้องตลาด มาประยุกต์ใช้เพื่อเสพติด เช่น ใบกระท่อมนำมาผสมกับเครื่องดื่มหรือที่รู้จักในชื่อ “สี่คูณร้อย” และยาต่าง ๆ ได้แก่ ยานอนหลับ (alprazolam) ยารักษาภูมิแพ้ (dimenhydramine) ยาแก้ไอ (codeine) หรือแม้กระทั่งยาแก้ปวด (tramadol) ที่ปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่นที่ใช้เพื่อเสพติด
(Tramadol) เป็นยาในกลุ่มโอพิออยด์ (opioids) ออกฤทธิ์เหมือนมอร์ฟีน และสามารถซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ทำให้ยาชนิดนี้ถูกนำมาใช้ในทางที่ผิดได้ง่าย

โดยนำยา tramadol ผสมกับเครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ เช่น น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ เป็นต้น หลังจากดื่มเครื่องดื่มที่ผสมยา tramadol เข้าไปจะทำให้เกิดอาการเคลิ้มสุข (euphoria) จึงทำให้ผู้ใช้มีความต้องการใช้ทุกวัน และเมื่อใช้อย่างต่อเนื่องติดต่อกันจะทำให้มีความต้องการปริมาณยาที่เพิ่มมากขึ้น จนเกิดอาการติดยา (addiction) ซึ่งนำไปสู่อาการถอนยาได้ หากไม่ได้รับยาเข้าสู่ร่างกาย การติดยาดังกล่าวสามารถอธิบายได้ด้วยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของตัวยา คือ ออกฤทธิ์กระตุ้นมิวรีเซพเตอร์ (µ-receptor) ทำให้เกิดการปลดปล่อยสารสื่อประสาทโดพามีน (dopamine) ที่สมองมีผลทำให้เกิดอาการเคลิ้มสุข และการติดยา

ในทางการแพทย์ Tramadol ใช้ระงับอาการปวดระดับปานกลางถึงรุนแรง เช่นเดียวกับมอร์ฟีน (morphine) โดยออกฤทธิ์กระตุ้นที่มิว รีเซปเตอร์ แต่เนื่องจากยาชนิดนี้ระงับอาการปวดได้น้อยกว่ามอร์ฟีน 5-20 เท่า จึงทำให้ยาชนิดนี้ไม่จัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติดให้โทษ

นอกจากนี้ tramadol ยังออกฤทธิ์ระงับปวดปลายประสาท โดยออกฤทธิ์ยับยั้งตัวเก็บกลับสารสื่อประสาท (transporter) ชนิดซีโรโธนิน (serotonin) และนอร์อีพิเนฟริน (norepinephrine) ที่บริเวณปลายประสาท ทำให้บริเวณปลายประสาทมีปริมาณสารสื่อประสาททั้งสองชนิดเพิ่มขึ้น จึงสามารถลดอาการปวดได้ ขนาดยาที่แนะนำสำหรับรักษาอาการปวด คือ 50-100 มิลลิกรัม รับประทานทุก 4-6 ชั่วโมง โดยขนาดยาสูงสุดที่แนะนำต่อ 1 วัน คือ 400 มิลลิกรัม

ผลข้างเคียงของยา Tramadol พบได้ตั้งแต่ไม่รุนแรง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก มือสั่น ใจสั่น ความดันโลหิตต่ำ มึนงง ง่วงซึม ประสาทหลอน จนถึงรุนแรงระดับนำไปสู่การเสียชีวิต เช่น ชักกดศูนย์การหายใจของร่ายกาย หรือซีโรโธนินซินโดรม (serotonin syndrome) ซึ่งจะมีอาการแสดงในหลาย ๆ ระบบของร่างกายพร้อมกัน เช่น กล้ามเนื้อเกร็งกระตุกร่วมกับความดันโลหิตสูงและประสาทหลอน ซึ่งถ้าหากปล่อยไว้ โดยไม่รักษาจะนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด

จะเห็นได้ว่าการนำยา tramadol มาใช้เสพติดเพื่อให้เกิดอาการเคลิ้มสุข เป็นอันตรายอย่างมากอาจถึงแก่ชีวิต เพราะฉะนั้นคงไม่คุ้มค่ากับการต้องแลกชีวิตเพียงเพื่อความสุขชั่วครู่ นอกจากทำลายสุขภาพแล้วการใช้ยานี้เพื่อการเสพติด อาจนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ทั้งด้านครอบครัว สังคม และประเทศชาติตามมาอีกด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น