ดันเมืองคู่แฝด เชียงใหม่-ลำพูน รับอนาคต หลังโควิด-19 สงบ

คณะทำงานร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)พื้นที่ภาคเหนือ เปิดเผยว่าแนวนโยบายเชื่อมไทยสู่โลก เชื่อมโลกสู่ไทยในห้วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือ หลากหลายมิติทั้งด้านการท่องเที่ยว วัฒนธรรม เศรษฐกิจและสังคม
ปัจจุบันจากฐานข้อมูล กระทรวงมหาดไทย ระบุความสัมพันธ์แบบบ้านพี่เมืองน้องของจังหวัดต่าง ๆ ในไทยกับจังหวัดหรือหน่วยปกครองของประเทศต่าง  ๆ มี 38 จังหวัด ลงนามไปแล้ว 89 คู่ อยู่ระหว่างดำเนินการ 22 จังหวัด ประมาณ 47 คู่ น่าสนใจว่า การร่วมลงนามกับเมืองต่าง ๆ อยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีนถึง 35 คู่/เมือง มากกว่าประเทศอื่น ๆ
เมื่อบริบทสังคม พลิกผันตามสถานการณ์โควิด-19 ประกอบกับภาครัฐฯ มีแผนส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การก่อสร้างถนน จาก 2 เลน เป็น 4 เลน ในสายทาง แพร่-น่าน ผ่านด่านห้วยโก๋น ไปหลวงพระบาง สปป.ลาว เชื่อมโยง
เส้นทางอาเซียนสาย 13 (จีน-ไทย-สปป.ลาว-เวียดนาม)
ศักยภาพแต่ละจังหวัดมีความโดดเด่น จุดแข็ง จุดอ่อนแตกต่างกัน ที่ผ่าน ๆ มามีการจัดวางโครงสร้างกลุ่มจังหวัดทั่วไป เพื่อสนับสนุน เสริมสร้างโอกาสซึ่งกันและกันผ่านแผนงานต่าง ๆ ต้องยอมรับว่า กลุ่มจังหวัด เช่น กลุ่มภาคเหนือตอนบน 1 ซึ่งประกอบด้วย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน บรรดายุทธศาสตร์ แผนพัฒนาหลาย ๆ ด้านที่เชียงใหม่ เลือกจะผลักดัน เชื่อมโยง ไปยังจังหวัดในกลุ่มนั้น โครงการเมืองแฝด เชียงใหม่-ลำพูน มีการวางแผน พยายามผลักดันกันมาไม่น้อยกว่า 10 ปี
ด้วยพื้นฐานโครงสร้าง ทางเศรษฐกิจ สังคมของ 2 เมือง มีจุดเด่น สร้างเสริมกันและกันได้อย่างลงตัว มีแผนพัฒนาสายทาง เชื่อมโยงระหว่างเมือง โดยเฉพาะเส้นทางซุปเปอร์ไฮเวย์ ทางหลวงหมายเลข 1 ที่กลายเป็นเส้นทางสายหลัก มีเครือข่ายสายรอง เชื่อมโยง ผ่านถนนเลียบทางรถไฟ พร้อม ๆ กับแนวคิดพัฒนารถไฟฟ้ารางเบาเชื่อม 2 เมือง การแบ่งโซนพื้นที่ตามกลุ่มสีของผังเมือง และการวางโครงสร้างขนาดใหญ่ รองรับอนาคตไม่ว่าจะเป็น สนามบินนานาชาติ ตั้งระหว่างรอยต่อ 2 จังหวัด เพื่อให้ความเจริญ ขยายสู่ชุมชน อย่างเท่าเทียม
ทั้งนี้เชียงใหม่ มีเขตปกครอง 25 อำเภอ ส่วนลำพูน มี 8 อำเภอ เมื่อเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือค่าจีดีพีจังหวัดต่อหัว ซึ่งสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมรวมรวบล่าสุด ก่อนช่วงโควิด-19 ระบาด พบว่า ลำพูนติด 1 ใน 20 อันดับ จากค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ 240,568 บาท/ปี ลำพูนมี 191,568 บาท เชียงใหม่ 135,991 บาท
“ข้อเท็จจริงคือ ค่าผลิตภัณฑ์ต่อหัวนั้น เชียงใหม่มีมูลค่าร่วม 2.3 แสนล้านบาท สูงเป็นอันดับ 1 ในภาคเหนือ ประชากรมีรายได้เฉลี่ย 11,333 บาท/คน ลำพูนมีมูลค่าทางเศรษฐกิจราว ๆ 7.7 หมื่นล้านบาท แต่ประชากร เขตปกครองเชียงใหม่ มีมากกว่าลำพูนถึง 3 เท่า จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ เกณฑ์เฉลี่ยแตกต่างกัน “
แนวคิดเมืองคู่แฝดแพร่หลาย หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การจับคู่เมืองในยุโรปเน้นการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ส่วนการจับคู่เมืองของสหรัฐอเมริกา เน้นเรื่องการสร้างสันติภาพและการสร้างความสามัคคีปรองดอง สำหรับไทยนั้นในการสถาปนาเมืองคู่แฝด มีผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าความร่วมมือเรื่องท่องเที่ยวเป็นเป้าหมายหลัก ตามด้วยการค้า การลงทุน
คณะวิจัยโครงการการพัฒนารูปแบบการดำรงชีวิตคาร์บอนต่ำในอาเซียน สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ความสัมพันธ์ ระหว่างเมืองคู่แฝด และบ้านพี่เมืองน้อง  จะมีการเชื่อมโยง ด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะวัฒนธรรม ประเพณี เศรษฐกิจ ซึ่งจะสามารถขยายความร่วมมือกันได้ในอนาคต ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ สภาพสิ่งแวดล้อมของเมืองที่คล้ายคลึงกัน เช่น เมืองปาย กับวังเวียง หรือ จ.ยโสธร กับเมืองโยชิดะ ประเทศญี่ปุ่น
จ.น่าน กับเมืองหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยร่วมมือในหลากหลายมิติ อาทิ ด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว ในปี พ.ศ. 2557 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการสร้างถนนจากเมืองหงสา แขวางหลวงพระบาง ซึ่งเป็นการเชื่อมโยง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน เพื่อเชื่อมโยงการเดินทาง ล่าสุด คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการและงบในโครงการขยายถนนจากแพร่ไปน่าน เชื่อมขยายเส้นทางสายนี้จากที่ดำเนินการในเฟส 1เรียบร้อยแล้ว
ภาคเอกชนในพื้นที่เชียงใหม่-ลำพูน มองว่า เมื่อพิจารณาและทบทวนแผนงานยุทธศาสตร์ เมืองคู่แฝด “เชียงใหม่-ลำพูน”ก่อนและหลังเกิดภาวะโควิด-19 ระบาด การจัดการอุปสรรค ปัญหาพื้นที่สุ่มเสี่ยงต่อการเพาะโรค อุบัติใหม่ ในชุมชนแออัด พร้อม ๆ กับการขยายเมือง สร้างพื้นที่ รองรับการขยายตัวด้านเศรษฐกิจ สังคมในทศวรรษอันใกล้นี้ น่าจะเป็นแนวทางที่ภาคส่วนต่างๆในสังคมต้องร่วมมือกันผลักดัน
ตลอดจนกลุ่มทุน และประชาชน 2 จังหวัด ต้องร่วมสร้างพื้นที่เมือง ให้ น่าอยู่ มีคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมกับการดำรงอยู่ของผู้คน  แทนที่จะ กระจุกตัว ทุกมิติ คงต้องร่วมมือ ผลักดัน โครงการนี้ ให้บรรลุเป้าหมายอย่างจริงจัง “ไม่ให้ปัญหาเมืองที่สั่งสมมานานกลายเป็นช่องว่าง คุกคาม  บั่นทอนคุณภาพการใช้ชีวิตอย่างปกติสุขทั่วไป ในหัวเมืองใหญ่ที่กำลังเริ่มจะแออัดด้วยผู้คนทั่วสารทิศ ที่มาทำงาน มาแสวงหาโอกาส ในเขตเมือง ในเขตอุตสาหกรรมต่อไป”

ร่วมแสดงความคิดเห็น