“หอหลวง” เจ้าฟ้า ศูนย์รวมใจของชาวไทขึน เมืองเชียงตุง

ด้วยความที่เมืองเชียงตุง เคยเป็นหัวเมืองเก่าแก่ของอาณาจักรล้านนา และมีประวัติการก่อตั้งเมืองในยุคสมัยที่ใกล้เคียงกัน ทั้งยังมีเจ้าผู้ครองนครปกครองที่มาจากต้นตระกูลเดียวกัน คือ ราชวงศ์มังราย จึงทำให้สองเมืองนี้มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันจนแยกไม่ออก ยิ่งในระยะหลังราชสำนักเชียงใหม่กับเชียงตุงก็ยิ่งแน่นแฟ้นกันมากขึ้น เมื่อมีราชตระกูลของทั้งสองฝ่ายอภิเษกสมรสกัน เช่น เจ้าอินทนนท์ ราชบุตรของเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่
องค์สุดท้ายสมรสกับเจ้านางสุคันธา ราชธิดาของเจ้าฟ้าเชียงตุง เจ้าทิพวรรณ ธิดาของเจ้าหลวงเมืองลำปาง อภิเษกสมรสกับเจ้าพรหมลือ ราชบุตรแห่งเจ้าก้อนแก้วอินแถลง เจ้าหลวงเมืองเชียงตุง และยังมีเจ้านายของทั้งสองราชตระกูลเกี่ยวดองกันอีกหลายท่าน
ยุคแห่งความรุ่งเรืองของราชสำนักเชียงตุงอยู่ในรัชสมัยของเจ้าก้อนแก้วอินแถลง ซึ่งทรงครองราชสมบัติในช่วงที่มหาอำนาจทางยุโรปกำลังขยายอำนาจในฐานะเจ้าอาณานิคม เมื่อราว 113 ปีก่อน เจ้าฟ้าของชาวไทเขินเชียงตุงพระองค์นี้ ทรงพระปรีชาสามารถและสร้างความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นในปี พ.ศ. 2450 หลังจากที่เสด็จกลับจากการประชุมร่วมกับอังกฤษที่ประเทศอินเดียแล้ว พระองค์ยังได้สร้างพระราชวังหลวง หรือ “หอหลวง” ด้วยรูปทรงสถาปัตยกรรมแบบอินเดียประยุกต์ผสมกับศิลปกรรมแบบยุโรปขึ้น เพื่อเป็นที่ประทับ
ปี 2534 รัฐบาลทหารเผด็จการพม่า ภายใต้การนำของนายพลเนวิน สมัยนั้นได้ทำการทุบรื้อทำลาย “หอหลวง” สถานที่อันเป็นศูนย์รวมใจของชาวไทขึน แห่งเขมรัฐเชียงตุง เพียงเพราะทหารพม่าต้องการพื้นที่ เพื่อใช้สร้างโรงแรมในการโปรโมทการท่องเที่ยวของพม่า Visit  Myanmar Year 1996 (พ.ศ. 2539) ทว่าสิ่งที่สูญหายไปคืองานสถาปัตยกรรมชิ้นเยี่ยมที่ทรงคุณค่าทั้งทางประวัติศาสตร์ โบราณคดีและแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญ ซึ่งน่าจะก่อประโยชน์ ทางด้านเศรษฐกิจได้ดีกว่าโรงแรมเล็ก ๆ ขนาดไม่กี่ห้องพัก ที่วันนี้ดูเงียบเหงาวังเวงปราศจากนักท่องเที่ยวผู้มาเข้าพักเป็นไหน
กล่าวกันว่าหาก “หอหลวง” ของเมืองเชียงตุงไม่ถูกทุบทิ้ง จะเป็นแหล่งดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเยือนนครรัฐแห่งนี้เป็นจำนวนมาก และยังเป็นสถานที่เชิดหน้าชูตาของบรรดารัฐไทในแถบนี้ได้ดีพอ ๆ กับ “พระราชวังเชียงทอง” ในเมืองหลวงพระบาง

เจ้าแม่สุคันธา ณ เชียงใหม่ ในฐานะราชธิดาของเจ้าก้อนแก้วอินแถลง เจ้าฟ้าเชียงตุงผู้ซึ่งเติบโตมาใน “หอหลวง” ได้เล่าย้อนความทรงจำในอดีตไว้ในบทสัมภาษณ์ตีพิมพ์ในนิตยสารแพรว ฉบับเดือนตุลาคม 2536 ตอนหนึ่งว่า
“ตำหนักของเจ้าพ่อเป็นตึกสามชั้นแบบแขก บนตำหนักมีห้องถึงเก้าห้อง แต่ละห้องใหญ่โตมาก แบ่งออกเป็นสามปีก ปีกซ้าย คือ ห้องของเจ้าพ่อ ส่วนห้องโถงใหญ่ ตรงปีกกลาง เอาไว้สำหรับออกขุนนาง เวลาที่มีงานใหญ่โต ถัดไปทางด้านหลัง เป็นห้องเก็บเงินท้องพระคลัง ปีกขวา เป็นห้องของเจ้าจอม 3 ห้อง และห้องมหาดเล็ก ส่วนชั้นล่างแบ่งไว้สำหรับต้อนรับเวลามีงานปีใหม่ หรืองานจัดเลี้ยงพวกเจ้าเมืองที่ขึ้นกับเมืองเชียงตุง เมื่อเขามาคารวะเจ้าพ่อ
ในพิธีคารวะ ซึ่งจะจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง คือวันปีใหม่กับออกพรรษา”

ท่ามกลางความรู้สึกรันทดเสียใจหลังจากที่ภาพสะท้อนเงาน้ำของ “หอหลวง” เจ้าฟ้าเชียงตุงที่เคยปรากฏเป็นร่มโพธิ์ของชาวไทขึน มาวันนี้เหลือเพียงความทรงอันปวดร้าวที่ไม่มีวันหวนคืน ไม่มีหอหลวง ไม่มีเจ้าฟ้าเชียงตุง หากมีเพียงสิ่งก่อสร้างสมัยใหม่ในฐานะของโรงแรมผุดขึ้นมาแทนที่
อย่างไรก็ตามภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ความขัดแย้งและความสับสนในการเจรจา เรื่องเอกราชกับอังกฤษทำให้เชียงตุงและรัฐฉาน กลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเมียนม่าในปัจจุบัน ราชสำนักเชียงตุงที่มีกษัตริย์สืบทอดราชบังลังค์ต่อเนื่องมาถึง 48 พระองค์นานกว่า 800 ปีก็ถึงกาลล่มสลาย ชาวไทขึนเชียงตุงและชาวไทใหญ่ในรัฐฉาน จึงมีฐานะเป็นชนกลุ่มน้อยและพลเมืองชั้นสอง ถูกปิดกั้นเสรีภาพทางการเมือง ทั้ง ๆ ที่รัฐฉานมีพื้นที่กว้างใหญ่ถึง 1 ใน 3 ของพม่าและมีชาวไทใหญ่ ไทขึนเป็นพลเมืองข้างมากของประเทศ
บทความโดย
จักรพงษ์  คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น