ปล่อยหมาแมวทิ้ง ช่วงโควิด-19 ระบาดเพียบ เตือนมีความผิดปรับสูง

เครือข่ายพิทักษ์สัตว์เพื่อสังคม (ภาคเหนือ) เปิดเผยว่าภาวะสัตว์เลี้ยงที่มีสภาพจรจัด เร่ร่อน ในชุมชนเมืองมีสาเหตุทั้งการพลัดหลงจากเจ้าของ การนำมาปล่อย  สัตว์เจ็บป่วย  พิการ ไม่อยากรักษา ไม่มีเวลาเลี้ยงดู สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย  ซึ่งปัญหาสัตว์เลี้ยงมุ่งไปที่สุนัขและแมว เป็นหลัก
หลาย ๆ ภาคส่วนของสังคม ทั้งปศุสัตว์, อปท., กลุ่มองค์กร เครือข่ายจิตอาสาหรือแม้แต่ชาวบ้านและวัด ได้ตระหนักถึงปัญหานี้ ใส่ใจดูแล นำไปฉีดวัคซีน ฉีดยาคุมกำเนิด และทำหมัน จัดหาที่เลี้ยงสุนัขจรจัดไว้จนจากไปเอง ยุติการจับสุนัขไปทำลาย ชำแหละเพื่อการพาณิชย์ จัดหาสถานที่กลางเพื่อการแจกจ่ายสุนัขสำหรับผู้ต้องการนำไปเลี้ยงโดยไม่คิด มูลค่า สร้างจิตสำนึก และความรับผิดชอบในการเลี้ยงสัตว์เหล่านี้ โดยไม่ปล่อยให้เป็นภาระสังคม

อย่างไรก็ตาม จากฐานข้อมูลที่มีการจัดทำทะเบียน สุนัขและแมวของ อปท. ในปีที่ผ่านมานั้น สมาคมพิทักษ์สัตว์ มองว่า เป็นข้อมูลที่ดูแปลกไป เพราะสถิติในช่วงปี 2559-2560 จำนวนสุนัขน่าจะมีถึง 5-6 ล้านตัว และมีสุนัขเร่ร่อนที่มี 2 แบบคือ สุนัขเร่ร่อน ที่มักพบเห็นตามข้างถนนทั่วไป และสุนัขชุมชน ที่มีผู้คน คอยดูแล ให้อาหาร แต่ไม่มีใครรับเป็นเจ้าของ ดังนั้นช่วงเวลาเพียง 2 ปี กับจำนวนสุนัขและแมวที่หลงเหลือในระบบเพียง 3 ล้านตัว ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะถึงแม้จะมีการควบคุม ฉีดวัคซีนทำหมัน
ทั้งนี้ ในฐานข้อมูลเพื่อการขึ้นทะเบียนสุนัขและแมว (ปี 2562 รอบที่ 1) สำรวจโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ พบว่า ไทยมีจำนวนสุนัข 2,064,876 ตัว ที่มีเจ้าของ และอีกกว่า 109,123 ตัว ไม่มีเจ้าของ ส่วนแมวนั้นมี 799,235 ตัว ที่มีเจ้าของ และไม่มีเจ้าของร่วม ๆ 55,021 ตัว

 

สำหรับเชียงใหม่ล่าสุดพบว่า มีสุนัข 83,701 ตัว ที่มีเจ้าของ และอีก 2,669 ตัว ไม่มีเจ้าของ ส่วนแมวนั้น มี 39,650 ตัว ที่มีเจ้าของ และอีกกว่า 2,076 ตัว ไม่มีเจ้าของ จากจำนวนสัตว์เลี้ยง 2 ประเภทมีกว่า 128,096 ตัว ในเชียงใหม่ จากที่มีทั่วประเทศรวม 3,028,255 ตัว แม้หน่วยงานด้านจะปศุสัตว์จะยืนยันข้อมูลจากการสำรวจตลาดอาหารสัตว์เลี้ยง ปี 2562 ว่ามีมูลค่าการตลาดสูง 1-2 หมื่นล้านบาท แต่ย้อนแย้งกับข้อมูล สมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงไทย ที่ระบุว่า ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงในไทยเฉพาะสุนัขและแมว (ไม่รวมสัตว์เลี้ยงชนิดอื่น ๆ) มีมูลค่าเกือบ 4 หมื่นล้านบาทต่อปี เติบโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ 10%

 

อดีตเจ้าของฟาร์มเพาะสุนัข ในเชียงใหม่ กล่าวว่า ช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา ตลาดสัตว์เลี้ยง ทั้งสุนัขและแมว เติบโต มีมูลค่าการตลาดสูงมาก จนเกิดกระแสฟาร์มเพาะพันธุ์มาขาย แต่ช่วงหลัง ๆ ลดน้อยลงไป ราคาที่เคยขายสุนัขพันธุ์ยอดนิยมตัวละเป็นหมื่น เป็นแสน แทบจะมีผู้คนนิยมเฉพาะกลุ่มเล็ก ๆ เสมือนเป็นของเล่น เครื่องประดับ หรือ สิ่งมีชีวิตช่วยคลายเหงาเท่านั้น

“บางคนเบื่อก็ให้เพื่อน คนรู้จักรับไปเลี้ยงต่อ ยิ่งช่วงไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดพบว่ามีการนำสัตว์เลี้ยง บรรดา หมา แมว ไปปล่อยตามวัด จนเจ้าอาวาส หลาย ๆ แห่งต้องปิดป้ายประกาศ ห้ามก็มี ซึ่งมีความผิด เพราะกรมปศุสัตว์ แจ้งเตือนตลอดว่า ถ้านำสัตว์เลี้ยงไปปล่อย เข้าข่ายผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ป้องกันการ ทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 มาตรา 23 ห้ามมิให้เจ้าของสัตว์ปล่อย ละทิ้ง หรือกระทํา การใด ๆ ให้สัตว์พ้นจากการดูแลของตนโดยไม่มีเหตุอันสมควร หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท การจะแก้ไขปัญหา สัตว์เร่ร่อน โดยเฉพาะ สุนัข แมว ได้เบ็ดเสร็จ ต้องมีการจัดเก็บภาษีสัตว์เลี้ยง ขึ้นทะเบียน ฝังไมโครชิป  ต้องเร่งมือทำ ก่อนที่ยุคสมัย นิว นอมอล หรือวิถีใหม่ ไม่ใส่ใจ ดูแล สุนัข แมวสัตว์เลี้ยง เพราะหวาดระแวง การเป็นพาหะโรคอุบัติใหม่ในสังคม  ที่ไม่แน่ชัดว่า หลังโควิด-19 แล้วจะมีโรคอะไรใหม่ ๆ โผล่มาอีก”

ด้านกรมปศุสัตว์แจ้งว่า ข่าวดี สำหรับผู้รักสัตว์เลี้ยง ทั้งสุนัขและแมว ได้มอบหมายให้ปศุสัตว์ทุกพื้นที่ บูรณาการความร่วมมือกับ อปท.จัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ปี 2563 ภายใต้แนวคิด “สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากพิษสุนัขบ้า” ขอรับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้ตั้งแต่วันนี้ – 31 กรกฎาคม 2563 โดยไม่มีค่าใช้จ่ายสามารถรับบริการได้ที่ อปท.ใกล้บ้าน รวมถึงการฉีดวัคซีน ทำหมันสัตว์ (สุนัขและแมว )
ขอบคุณภาพ : สำนักปศุสัตว์ลำปาง และกลุ่มด๊อกกี้ไลค์

ร่วมแสดงความคิดเห็น