“ชัยภูมิ” ดันโมเดลโรงเรียนส่งเสริมสุขภาวะ ยก “เด็ก” เป็นศูนย์กลางลดปัญหาอาหารกลางวันขาดคุณภาพ

ชัยภูมิ สร้างโมเดล “โรงเรียนสุขภาวะ” เพิ่มศักยภาพ ลดปัญหาอาหารกลางวันเด็กขาดคุณภาพ สอดคล้องกับนโยบายโครงการอาหารปลอดภัยและเป็นวาระจังหวัดที่ต้องเร่งแก้ไขให้เกิดอาหารปลอดภัยในทั้งในโรงเรียนและประชาชนทั้งจังหวัด

จากผลสำรวจของศูนย์วิจัยความสุข มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) พบว่าจังหวัดชัยภูมิจะเป็นจังหวัดที่ประชากรมีความสุขมากเป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย ได้จัดทำขึ้น โดยมีปัจจัยตัวชี้วัดของผลสำรวจนี้มาจากการดูจากสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ, วิถีชีวิตชาวบ้าน, เป็นเมืองที่สงบ, ผู้คนมีความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินสูงของทุกจังหวัดทั้งประเทศ จนได้ผลออกมาว่า จังหวัดชัยภูมิ เป็นจังหวัดที่ประชากรมีความสุขเป็นอันดับ 3 ของประเทศนายกรกต ธำรงวงศ์สวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการ จ.ชัยภูมิ เปิดเผยว่า แม้จะมีผลสำรวจจากตัวชี้วัดดังกล่าว แต่ก็ยังมีสิ่งที่ขาดและทางจังหวัดถือเป็นนโยบายเร่งด่วน เป็นวาระของจังหวัดที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ เรื่องลดอ้วน ลดพุง ลดโรค NCDs และ เรื่องอาหารปลอดภัย สืบเนื่องจากพบว่าชาวบ้านยังรับประทานอาหารที่มีสารเคมี และยังทำการเกษตรแบบใช้สารเคมีอยู่มาก ซึ่งเห็นได้จากปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอาหารปลอดภัยที่เป็นนโยบายเร่งด่วนของจังหวัด ซึ่งไปสอดคล้องกับสิ่งที่ โรงเรียนสุขภาวะที่เข้าร่วมโครงการกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตัวอย่างเช่นโรงเรียนบ้านท่ามะไฟ และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านท่าหินโมงที่กำลังดำเนินการอยู่ มีทั้งให้ความรู้และส่งเสริมให้เด็กออกกำลังกาย สอนให้เด็กปลูกผักปลอดสารพิษ รวมไปถึงให้เด็กไปชักชวนผู้ปกครองปลูกมาร่วมปลูกผักปลอดสารพิษไว้ที่บ้านด้วย เพื่อเด็กจะได้ทานอาหารปลอดภัยเมื่อกลับไปทานที่บ้าน จึงมั่นใจได้ว่า โครงการอาหารกลางวันของนักเรียนในโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนสุขภาวะนั้น ได้มีการจัดการ จัดทำเมนูอาหาร ได้นำผักปลอดสารเคมีมาปรุงเป็นอาหาร ดังนั้นเด็กที่รับประทานจึงไม่มีปัญหา เพราะได้รับสารอาหารตามหลักโภชการครบถ้วน เป็นอาหารดี มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างแน่นอน“โครงการอาหารกลางวัน เป็นการใช้จ่ายงบประมาณของราชการ เรื่องระเบียบปฏิบัติชัดเจนอยู่แล้ว แต่ที่มีปัญหาเพราะว่าผู้ปฏิบัติไม่ทำตามระเบียบ ถ้าผู้บริหารใส่ใจปัญหาจะไม่เกิด ดังนั้นข้อดีของโรงเรียนสุขภาวะคือ เด็กได้ทานผักปลอดสารพิษที่ปลูกจากโรงเรียน แล้วบอกต่อให้ผู้ปกครองปลูกให้ทานที่บ้าน ถ้าผู้ปกครองไม่ปลูกแล้วต้องซื้อจากตลาดก็จะไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัย โรงเรียนสุขภาวะเด็กจึงได้ทานอาหารปลอดภัยทั้งรงเรียน ลดปัญหาอาหารกลางวัน พ่อแม่ได้ปลูกผักปลอดสารเคมี เหมือนได้นำวิถีชีวิตพอเพียงกลับมาใช้ ปลูกผักกินเองปลอดภัยและลดรายจ่ายด้วย” รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ กล่าว

ด้าน นายสันติ ไตรเสนีย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนท่ามะไฟหวาน ได้ขยายความเรื่องการจัดการอาหารกลางวันของโรงเรียนว่า ที่โรงเรียนไม่เคยมีปัญหาเพราะโรงเรียน ผู้ปกครอง และ ผู้นำท้องถิ่น ได้ให้ความสำคัญเรื่องอาหารปลอดภัยของเด็กนักเรียน ด้วยการส่งเสริมให้ทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง และผู้นำท้องถิ่น ร่วมกันปลูกผักปลอดสารพิษ เพื่อจะได้เกิดความมั่นใจและทราบที่มาของแหล่งอาหารที่นำมาทำอาหารให้เด็กทานในโรงเรียนว่า เด็กได้รับประทานอาหารดี มีคุณภาพและเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย“หลังจากได้เข้าร่วมโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาวะ โรงเรียนได้สอนให้ได้เด็กปลูกผักปลอดสารพิษ แล้วก็สร้างความร่วมมือกับผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน ส่งเสริมให้เขาปลูกผักปลอดสารพิษ เพื่อมาสนับสนุนอาหารกลางวันของโรงเรียนด้วย กรณีแปลงอาหารกลางวันของโรงเรียนไม่เพียงพอ ก็ยังมั่นใจได้ว่ามีแปลงผักปลอดภัยของผู้ปกครองอีก 200 กว่าคนที่ปลูกไว้ ซึ่งสามารถนำมาขายให้โรงเรียนได้ ที่นี่จึงไม่มีปัญหาเรื่องอาหารกลางวัน และ อาหารที่เด็กทานก็ปลอดภัย มีคุณภาพ” นายสันติ กล่าว

ทางด้าน ดร.ดวงใจ วิชัย ประธานสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ สาธารณสุขชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ ผู้ดำเนิน “โครงการพัฒนาชุมชนส่งเสริมอาหารเพื่อสุขภาพหุบเขาภูแลนคา จ.ชัยภูมิ”  ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส.กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนโครงการอาหารปลอดภัยไปสู่โรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก เพื่อให้เกิดเป็นโรงเรียนส่งเสริมสุขภาวะ หลังจากได้รับโจทย์ส่งเสริมเด็กให้บริโภคผักและผลไม้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน หรือ 4 ขีดต่อวัน จึงได้ทำงานร่วมกับโรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก ร้านอาหาร และมหาวิทยาลัย ด้วยการเข้าไปส่งเสริมให้เด็กรับประทานผักและผลไม้ปลอดสารพิษ ส่งเสริมให้ปลูกผักผลไม้ปลอดสารพิษในโรงเรียน บ้าน และ ส่งเสริมให้เด็กต้องออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวันหลังจากดำเนินงานได้หนึ่งปี พบว่า ได้ทำงานครอบคลุมทุกมิติ ขับเคลื่อนครบทุกภาคส่วน โดยมีหัวใจสำคัญอยู่ที่ “เด็ก” ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนหรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ทำร่วมกันทุกแห่ง ผู้บริหารล้วนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก จนทำเป็นแผนพัฒนาโรงเรียน วางระบบการบริหารจัด ขับเคลื่อนผ่านครูอนามัยของโรงเรียน ผ่านครูประจำชั้นแล้วเชื่อมโยงไปสู่ผู้ปกครอง เนื่องจากผู้ปกครองเจอกับครูทุกวัน และ ครูต้องตามไปดูเด็กที่บ้าน จึงเป็นโอกาสดีที่จะดูว่า ผู้ปกครองปลูกผักอย่างยั่งยืนหรือไม่ ในเมื่อเด็กได้ทานอาหารปลอดภัยจากโรงเรียนแล้ว อีกสองมื้อที่ทานจากบ้านก็อยากให้เด็กได้ทานอาหารปลอดภัยด้วย

จากการทำงานดังกล่าว ทำให้เกิดการเชื่อมโยงเป็นโครงข่าย จากระดับโรงเรียน ได้เชื่อมโยงไปสู่ท้องถิ่น เช่น อบต. เพราะเป็นหน่วยงานหนึ่งที่จัดสรรงบประมาณอาหารกลางวันให้โรงเรียน และ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และ ทุกอบต.ที่ทำงานด้วยได้ให้ความสำคัญเรื่องอาหารปลอดภัยแก่เด็กอย่างมาก จึงเดินไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด“การบริโภคผักผลไม้เพิ่มขึ้น กับ กิจกรรมออกกำลังกาย จึงตอบโจทย์และสอดคล้องกับนโยบายของจังหวัดที่ต้องการส่งเสริมให้ประชาชนบริโภคอาหารปลอดภัย และนโยบายลดพุง ลดโรค ดังนั้นการขับเคลื่อนที่ทำกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและ โรงเรียน จึงไม่ได้เกิดประโยชน์กับเด็กเพียงอย่างเดียว แต่เกิดผลดีกับผู้ปกครองด้วย เพราะถ้าจะให้เด็กทานผักผู้ปกครองก็ต้องทานด้วย หรือถ้าจะให้เด็กออกกำลังกาย ผู้ปกครองก็ต้องออกกำลังกายด้วย” ดร.ดวงใจ กล่าวจากความร่วมมือของโรงเรียน ผู้ปกครองและผู้นำท้องถิ่น กลายเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงไปสู่จุดใหญ่ระดับนโยบายของจังหวัด ที่นี่อาจเป็น “ชัยภูมิ โมเดล” เรื่องการขับเคลื่อนโรงเรียนสุขภาพวะ การส่งเสริมอาหารปลอดภัยในโรงเรียนและชุมชน โดยให้ความสำคัญแก่ เด็ก และมีเด็กเป็นจุดศูนย์กลางของความเชื่อมโยง เพื่อเป้าหมายที่ว่า เด็กต้องได้รับประทานอาหารที่ดี ถูกหลักโภชนาการ พร้อมกับปลูกฝังเลือกอาหารปลอดสารเคมีตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อโตไปจะได้เข้าใจและหลีกเลี่ยงใช้สารเคมีในการปลูกพืชผักในอนาคตด้วย

“ชัยภูมิโมเดล” จึงเป็นโมเดลที่ยิงนัดเดียวได้นกหลายตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารปลอดภัย นำไปสู่การลดปัญหาอาหารกลางวันไม่มีคุณภาพ การออกกำลังกายเพื่อลดโรค รวมไปถึงการปูทางเพื่อให้เด็กกำลังจะกลายเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตเรียนรู้การปลูกผักปลอดสารพิษด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น