“พระธาตุดอยสุเทพ” ศูนย์กลางของพุทธศาสนาในล้านนา

ดอยสุเทพมีชื่อเรียกกันหลายชื่อ เช่น “ดอยกาละ” หมายถึงอีกาทิ้งละไม่กล้าอยู่หรือไม่มีอีกา เพราะไม่เคยปรากฏว่ามีอีกาอยู่บนดอยสุเทพนี้เลย “ดอยอ้อยช้าง” หรือ “อุฉจบรรต” คำว่า อ้อยนี้หมายถึงไม้ไผ่ คงเป็นเพราะบนดอยนี้มีไม้ไผ่อยู่มากนั่นเอง ส่วนชื่อว่า “ดอยสุเทพ” ในปัจจุบันเรียกตามชื่อของ ฤาษีตนหนึ่ง ซึ่งมาสร้างพรตบำเพ็ญตะบะอยู่ ณ ถ้ำฤาษี เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 11-12 ฤาษีตนนั่นมีชื่อว่า “สุเทวฤาษี” หรือ “ฤาษีวาสุเทพ” ภายหลังฤาษีตนนี้ได้หายสาปสูญไปอย่างลึกลับ คนทั้งหลายเห็นเป็นที่อัศจรรย์จึงเรียกชื่อดอยนี้ว่า “ดอยสุเทพ” ปัจจุบันยังมีถ้ำที่ฤาษีจำศีลอยู่เรียกว่า “ถ้ำฤาษี” อยู่ระหว่างทางไปพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์

ชาวลัวะถือว่า ดอยสุเทพ คือ ที่สิ่งสถิตของวิญญาณบรรพบุรุษ ดังเช่นทุกปี จะมีการทำพิธีเซ่นสรวงดวงวิญญาณผีบรรพบุรุษลัวะ หรือที่เรารู้จักว่า “พิธีเลี้ยงดง” หรือ “ผีปู่แสะย่าแสะ” ซึ่งจัดขึ้นที่บริเวณเชิงดอยสุเทพ ด้วยความเชื่อของชาวลัวะที่ว่า ต้นตระกูลของพวกเขาเป็นชาวลัวะที่เคยเรืองอำนาจและได้อาศัยอยู่ที่บริเวณดอยสุเทพก่อนที่พญามังรายจะสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นเสียอีก

หลังจากที่พญามังรายทรงสถาปนาเมืองเชียงใหม่ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1839 อิทธิพลของลัวะเมื่อเริ่มสิ้นอำนาจไปพร้อม ๆ กับการเข้ามาของพุทธศาสนา ด้วยแรงศรัทธาแห่งพระศาสนาของคนในล้านนา จึงมีการบรรจุพระบรมธาตุเจดีย์
ขึ้นที่กึ่งกลางของดอยสุเทพ ในสมัย พระเจ้ากือนา เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ทรงสร้างเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมนี้ขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 1927

ภายหลังจากที่ได้พระบรมสารีริกธาตุ มาจากสุโขทัยนั้น แสดงว่า คนล้านนาในอดีตได้มอบศรัทธาให้แก่ดอยสุเทพแล้ว ซึ่งหากจะพิจารณาตามคติของฮินดูจะพบว่า พระธาตุดอยสุเทพนั้น เปรียบเสมือนแกนกลางของจักรวาลหรือเขาพระสุเมรุ นั่นเอง พระธาตุดอยสุเทพ เป็นสถานที่ที่พุทธศาสนิกชน และนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศรู้จักกันดี ว่ากันว่าหากใครไปถึงเชียงใหม่แล้ว ไม่ได้ขึ้นไปนมัสการพระธาตุดอยสุเทพ ก็เหมือนกับว่ายังมาไม่ถึงเชียงใหม่

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น