กกร.สุดทน ประชุมด่วนร้องผู้ว่าฯ “เปิดเมือง” ยื่นข้อเสนอละเอียดยิบผ่อนปรนมาตรการโควิด-19

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 ที่ ร้านชมน่าน อำเภอเมือง จังหวัดน่าน โดยมีนายศรีรุ่ง รัตนศิลา ประธานหอการค้าจังหวัดน่าน / นายสุชาติ พัฒนศิษฎางกูร ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดน่าน และ นายจิรโรจน์ คันธศักดิ์ศิริ ประธานชมรมธนาคารจังหวัดน่าน ได้จัดการประชุม ของ กกร.น่าน (คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน จังหวัดน่าน) เพื่อนำเสนอต่อนายวรกิตติ  ศรีทิพากร ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ในประเด็นปัญหาและแนวทางการผ่อนปรนมาตรการป้องกันโรคระบาดโควิด-19 โดย คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน จังหวัดน่าน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย หอการค้าจังหวัดน่าน สภาอุตสาหกรรมจังหวัดน่าน และชมรมธนาคารจังหวัดน่าน ได้จัดการประชุมร่วมกันโดยมีวาระเร่งด่วนเพื่อพิจารณารวบรวมปัญหาและแนวทางผ่อนปรนมาตรการป้องกันโรคระบาดโควิด-19 โดยมีสาระสำคัญในที่ประชุมแยกเป็นประเด็นคือ

ประเด็นปัญหาที่ 1 มาตรการการเข้าออกด่านจังหวัดน่านมีความเข้มงวดเกินไป การกักตัวขาดความยืดหยุ่นและความชัดเจนในข้อปฏิบัติ ขั้นตอนพิธีการเอกสารมีความยุ่งยากล่าช้า ตลอดจนมาตรการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยขอเสนอทางจังหวัด พิจารณาผ่อนปรนความเข้มงวดให้กับผู้เดินทางเข้าออกจังหวัดน่านให้สะดวกและรวดเร็วขึ้น โดยยังคงมีมาตรการคัดกรองเบื้องต้น อาทิ วัดอุณหภูมิ สอบถามประวัติเพื่อคัดกรองกลุ่มเสี่ยง บันทึกข้อมูลการติดต่อเพื่อติดตาม เป็นต้น ทั้งนี้ผู้ที่ไม่มีความเสี่ยงหรือมีความเสี่ยงต่ำสามารถเข้าออกจังหวัดน่านได้สะดวกและรวดเร็ว ลดขั้นตอนการขออนุญาตหน่วยงาน และสำหรับผู้ที่มาจากพื้นที่หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงให้ดำเนินการกักตัวหรืออยู่ในการเฝ้าระวังตามมาตรการ และโปรดพิจารณาจัดตั้งหน่วยงานสายด่วนโควิด-19 (Call Center) เพื่อให้บริการข้อมูลระเบียบข้อปฏิบัติ รับเรื่องร้องเรียน และประสานงานแก้ไขปัญหาการเข้าออกด่าน ซึ่งเป็นข้อมูลกลางชุดเดียว เพื่อป้องกันความเข้าใจคาดเคลื่อนและรักษามาตรฐานการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่หน้าด่านที่มีการสับเปลี่ยนเวรกัน

ประเด็นปัญหาที่ 2 ระเบียบหรือคำสั่งที่ควบคุมหรือสั่งปิดกิจการของธุรกิจภายในจังหวัดซึ่งยังมีผลต่อผู้ประกอบการหลายกลุ่ม หลากหลายอาชีพ อาทิ ภาคการท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรมที่พัก ภาคบริการ เป็นต้น สร้างผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการและลูกจ้าง อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อเนื่องกับธุรกิจอื่น ๆ ในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งหากไม่เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหา อาจทำให้เกิดปัญหาภาคเศรษฐกิจและสังคมขึ้นได้

กกร.เสนอว่า เมื่อพิจารณาถึงระยะเวลาตั้งแต่มีคำสั่งควบคุมจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลาสำหรับการป้องกันการแพร่ระบาดที่นานพอแล้ว และพบว่าจังหวัดน่านปลอดเชื้อโควิด-19 จึงสมควรพิจารณาผ่อนปรนระเบียบ หรือข้อบังคับเพื่อให้ธุรกิจทั้งหมดในจังหวัดได้กลับคืนสู่การดำเนินการปกติอย่างเสรี และโปรดพิจารณาลดขั้นตอนการขออนุญาต หรือระเบียบการสำหรับการกลับมาเปิดกิจการ

ทั้งนี้ การผ่อนปรนระเบียบมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ภาคเศรษฐกิจมีความคล่องตัวและฟื้นตัวได้เร็ว กระตุ้นการหมุนเวียนของรายได้ แต่ยังคงมีมาตรการที่จำเป็นสำหรับการป้องกันของแต่ละกลุ่มธุรกิจ อาทิ กลุ่มโรงแรมที่พักสามารถเปิดให้บริการได้ แต่ต้องมีการกำหนดการทำความสะอาดห้องพักหรือฆ่าเชื้อ ภาคบริการมีการบันทึกข้อมูลการติดต่อสำหรับผู้มาใช้บริการ เป็นต้น


ประเด็นปัญหาที่ 3 การปิดบริการท่าอากาศยานน่านนคร ขอให้โปรดพิจารณาผ่อนปรนเพื่อเปิดการเดินทางโดยเครื่องบินเข้าออกจังหวัดน่าน ผ่านทางท่าอากาศยานน่านนคร เพื่อให้สอดคล้องกับการผ่อนปรนมาตรการในหลาย ๆ จังหวัดที่สามารถเดินทางเข้าออกจังหวัด โดยท่าอากาศยานได้ ทั้งนี้ ยังคงมีมาตรการคัดกรอง การตรวจสอบประวัติกลุ่มเสี่ยง และบันทึกข้อมูลผู้โดยสาร ตามมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันอยู่เสมอ


ประเด็นปัญหาที่ 4 ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดจากโควิด-19 ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่พึ่งอุตสาหกรรมทางการท่องเที่ยว ประสบปัญหาการดำเนินการธุรกิจ การขาดทุน การขาดสภาพคล่อง และปัญหาด้านการแบกรับต้นทุนแรงงาน ซึ่งส่งผลเสียร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจจังหวัดน่านทั้งในระดับครัวเรือนและระดับมหภาค หากไม่เร่งดำเนินการช่วยเหลือจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างได้

ข้อเสนอแนะ โปรดพิจารณาช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทุกภาคส่วนธุรกิจทั้งทางตรง และทางอ้อม ผ่านการประชุม คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดน่าน (กรอ.) และให้ผู้แทนแต่ละกล่มธุรกิจได้มีโอกาสในการรายงานสภาวะปัญหาและขอความช่วยเหลือโดยตรงกับที่ประชุมได้

ประเด็นปัญหาที่ 5 การชะลอการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ซึ่งทำให้งบประมาณไม่ได้กระจาย และไม่หมุนเวียนจากภาครัฐสู่ภาคเอกชน ก็ขอให้พิจารณาเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ และโครงการใดอยู่ระหว่างการชะลอ ขอโปรดเร่งรัดการว่าจ้างหรือดำเนินการเพื่อให้การเกิดการกระจายและหมุนเวียนเงินสดในระบบเศรษฐกิจของจังหวัดน่าน ซึ่งการลงทุนภาครัฐจะเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดน่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน จังหวัดน่าน (กกร.) ได้มีมติรวม 5 ข้อข้างต้นเพื่อนำนายวรกิตติ  ศรีทิพากร ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ได้โปรดพิจารณาช่วยเหลือแก้ไขปัญหา โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการตอบรับโดยเร็ว
ซึ่งเรื่องดังกล่าว ลงนามโดย นายศรีรุ่ง รัตนศิลา ประธานหอการค้าจังหวัดน่าน นายสุชาติ พัฒนศิษฎางกูร ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดน่าน และ นายจิรโรจน์ คันธศักดิ์ศิริ ประธานชมรมธนาคารจังหวัดน่าน

ร่วมแสดงความคิดเห็น