รุมทึ้ง! งบโควิด-19 หวั่นทุจริต ตุนเงินรับเลือกตั้งท้องถิ่น

ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริต จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ความร่วมมือในการต่อต้านการโกง การทุจริตทุกรูปแบบ โดยมี
องค์กรต่อต้านการทุจริตแห่งประเทศไทย เป็นฟันเฟืองหลัก มีองค์กรสมาชิก ทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 50 องค์กรเข้าร่วม ผนึกกำลังกันสกัดกั้นขบวนการฉ้อฉล โกงกินงบหลากกิจกรรม โครงการ สารพัดรูปแบบผลดำเนินการที่ผ่าน ๆ มา เฉพาะที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่อย่างต่อเนื่องสู่สาธารณะ กระทั่งล่าสุดการติดตามตรวจสอบกิจกรรมโครงการ เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แม้จะมีความร่วมมือ บูรณาการการร่วมกับหลายภาคส่วนตามแนวทางการป้องกันการทุจริตช่วงโรคโควิด-19 ยังพบว่ามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวนหนึ่ง ใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อจัดหา จัดซื้อวัสดุอุปกรณ์เพื่อใช้ในการควบคุม ดูแล ป้องกันการแพร่ระบาดและผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยมิชอบขาดประสิทธิภาพ ส่อไปในทางแสวงหาประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อเครื่องพ่นสารเคมีละอองฝอยเฉลี่ยเครื่องละ 7-8 หมื่นบาท ด้วยข้ออ้าง การเปรียบเทียบระเบียบราคาเวชภัณฑ์ ตามเงื่อนไขราคากลางอ้างอิงด้านสาธารณสุข

“บางอปท.เล็ก ๆ ที่มีงบจำกัด จัดซื้อเครื่องพ่นฝอยละอองชนิดสะพายหลัง ใช้ระบบเครื่องยนต์ ความจุน้ำมัน 1.3 ลิตร
และมีความจุน้ำยา 26 ลิตร เครื่องละ 85,000 บาท ทั้ง ๆ ที่ราคาสินค้าในตลาดเฉลี่ย 3-7 พันบาทเท่านั้น หลาย ๆ อปท.ใหญ่ ๆ แห่ใช้งบจัดซื้อน้ำยา อุปกรณ์ สินค้าเพื่อจัดชุดดูแลกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ หลักแสนจนถึง 250 ล้านบาทก็มี”

คณะทำงานเครือข่ายต่อต้านการทุจริต ภาคเหนือ (เชียงใหม่) กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ติดตามตรวจสอบ ข้อร้องเรียนเกี่ยวกับ โครงการโรคโควิด-19 เช่น กรณีจัดชุดถุงน้ำใจหรือ แคร์เซ็ต แจกจ่ายให้ผู้สูงอายุ งบสูงกว่า 16-17 ล้านบาท การจัดซื้อเครื่องพ่นเคมีชนิดฝอยละออง “กระบวนการตามขั้นตอน อาจยังสาวไม่ถึงผู้อยู่เบื้องหลังที่แท้จริง แต่สังคม ในท้องถิ่นแต่ละพื้นที่เริ่มตระหนักแล้วว่า กลุ่มบุคคลเหล่านี้ เป็นอย่างไร เหมือนกระชากหน้ากาก ตีแผ่ตัวตนคนการเมืองแบบนี้ออกมาให้สังคมได้รับรู้” ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระบุว่า ที่ผ่านมา มีการเผยแพร่การ
ติดตาม ตรวจสอบ ตามข้อร้องเรียนต่าง ๆ ต่อเนื่องซึ่งจะมีทั้งกลุ่มการเมือง, ข้าราชการ, พนักงานของรัฐ ที่มีคำพิพากษาชี้มูลความผิด รับโทษทัณฑ์ทั้งจำคุก, ไล่ออก, ยึดทรัพย์ เช่น ล่าสุดความคืบหน้าคดีกล่าวหา เจ้าหน้าที่บริหารงานพัสดุ 5 หน่วยงานหนึ่งในเชียงใหม่ ซึ่ง ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และ 157 เมื่อ 10 ตุลาคม 2560 เรียกรับเงินจากผู้รับเหมาให้ได้งานในโครงการต่าง ๆ ซึ่งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 5 ชี้ความผิดต่างกรรมต่างวาระรวม 11 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี จำเลยรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ คงจำคุก 27 ปี 6 เดือน เป็นต้น ควรสังวรณ์ว่า มาตรา 149 นั้น “การเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดโดยมิชอบ ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 1-4 แสนบาท หรือประหารชีวิต”

ด้านปลัด อปท.ในพื้นที่เชียงใหม่ หลายรายแสดงความคิดเห็นว่า ติดตาม ข่าวสาร ความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับการจัดซื้อ จัดหา วัสดุ อุปกรณ์ ในโครงการ ป้องกัน ควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ยอมรับว่า บาง อปท.ขนาดใหญ่ ใช้งบจ่ายขาดเงินสะสม หลายสิบล้าน เพื่อซื้อหน้ากากอนามัย หรือแม้แต่จัดซื้อเครื่องพ่นสารเคมี เครื่องวัดอุณหภูมิ

“ถ้าตรวจสอบพบว่าส่อไปทางทุจริต ผิดก็ต้องว่ากันไปตามคดี แต่ส่วนใหญ่แล้ว ฝ่ายการเมือง มักจะรอด น่าเห็นใจ
ฝ่ายข้าราชการ ซึ่งมีไม่น้อยที่ยอมย้ายออกไป เพราะไม่อยากร่วมกระทำความผิด ปัจจุบันภาคประชาสังคม มีบทบาท ติดตามสอดส่อง ตรวจสอบเรื่องทุจริตได้เข้มแข็งมากขึ้น การทุจริต น้อยมากที่จะรอด ยิ่งช่วงโควิด-19 ประเด็นนี้ สังคมสนใจ ติดตาม ดังนั้น แต่ละอปท.ที่นำเสนอแผนจัดซื้อจัดหาวัสดุ อุปกรณ์ ตามโครงการโควิด-19 ค่อนข้างจะระมัดระวัง อาจจะมีบางอปท.เท่านั้น ที่ฉกฉวยงบดำเนินการ”

“สำหรับประเด็นงบกว่า 4 แสนล้านบาท ที่จะกระจาย ให้ อปท. กระตุ้น เศรษฐกิจชุมชน ผ่านโครงการต่างๆกระแสที่
ว่าจะรุมทึ้งงบ ตุนเสบียง รอเลือกตั้งท้องถิ่น หลังโควิด-19 สงบ เชื่อว่า กลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม และสังคม คงติดตามสอดส่องใกล้ชิด อยากเตือน ฝ่ายข้าราชการประจำ ให้พร้อมใจกัน บริหารจัดการงบส่วนนี้ให้มีประสิทธิภาพ อย่าให้เกิดปัญหา ถ้าถูกร้องเรียน ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวน เสียอนาคต กันไป ไม่คุ้มกับเศษเงินที่นักการเมืองยื่นให้”

ร่วมแสดงความคิดเห็น