ผวจ.แพร่เพิ่มมาตรการ ป้องกันนมโรงเรียนบูด ส่วน ผอ.สพป.แพร่ เขต 1 ให้ปฎิบัติตามคู่มือนมโรงเรียน

ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563 เวลา 09.30 น. นางกานต์เปรมปรีด์ ชิตานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนระดับจังหวัด จังหวัดแพร่ ครั้งที่ 1/2563 ณ ห้องประชุมสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดแพร่ สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดแพร่ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมฯ

นางกานต์เปรมปรีด์ ชิตานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เปิดเผย ว่า จากกรณีพบปัญหานมโรงเรียนบูดเสีย ที่โรงเรียนบ้านแม่ยางเปี้ยว อำเภอร้องกวาง นมดังกล่าวเป็นนม UHT สำหรับแจกให้นักเรียนนำกลับไปรับประทานที่บ้านช่วงปิดภาคเรียนที่ 2/2552 โดยผู้ประกอบการได้ส่งมอบนมให้โรงเรียนตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2563 จำนวน 5,436 กล่อง ทางโรงเรียนมีความประสงค์จะแจกนมให้กับนักเรียนในการมารับผลการเรียนในวันที่ 31 มีนาคม 2563 แต่เนื่องจากทางรัฐบาลได้มีการประกาศ พรก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 ทำให้ไม่สามารถจัดกิจกรรมภายในโรงเรียนได้ เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่านมจะหมดอายุในเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน ครูแต่ละห้องจึงได้นำนมมาเก็บรักษา ไว้ในห้องเรียน เพื่อแจกให้นักเรียนเมื่อเปิดภาคเรียนใหม่ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา ได้นำนมที่เก็บไว้นำมาแจกจ่ายให้นักเรียนนำกลับบ้าน ช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ผู้ปกครองนักเรียนจำนวน 1 ราย ได้แจ้งว่านมที่โรงเรียนแจกบูดเสีย จำนวน 1 กล่อง โรงเรียนจึงให้ผู้ปกครองนำกลับมาคืนโรงเรียนของวันเดียวกัน ซึ่งเด็กนักเรียนยังไม่ได้รับประทาน และได้ตรวจสอบกับผู้ปกครองคนอื่นไม่พบปัญหาแต่อย่างใด จากนั้นจึงตรวจสอบนมทั้งหมด 107 ลัง พบนมมีปัญหา จำนวน 17 ลัง เป็นนมที่บูดเสียทั้งหมดเพียง 1 ลัง อีก 16 ลัง บูดเสียเป็นบางกล่อง โดยนมในชุดนี้จะหมดอายุในเดือนสิงหาคม และพฤศจิกายน 2563

ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวว่า นมที่บูดเสีย เกิดจากการเก็บรักษานมไว้ที่โรงเรียน พบว่ามีความชื้น ลังนมผุ มดมากัดแทะ ทำให้อากาศเข้าไปภายในกล่องน้ำ ประกอบกับอากาศร้อนในช่วงที่ผ่านมา ทำให้นมบางส่วนบูดเสีย จึงได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับครูที่เกี่ยวข้องกับการตรวจรับและเก็บรักษานมโรงเรียน การตรวจรับให้ทดสอบและสุ่มแกะสำรวจบรรจุภัณฑ์อย่างละเอียด และนำมาเก็บรักษาไว้ให้สูงจากพื้น พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจกับผู้ปกครองนักเรียนถึงวิธีการเก็บรักษานมให้ถูกต้อง ป้องกันปัญหานมโรงเรียนบูด/เสีย ในโอกาสต่อไป

“การแก้ปัญหาระยะยาว ได้วางมาตรการไว้ดังนี้ 1. จัดประชุมซักซ้อมความเข้าใจให้กับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด 2. ตรวจสอบสถานที่เก็บรักษานมของผู้ประกอบการ 3.สุ่มตรวจสอบการตรวจรับและการเก็บรักษาโดยเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ และทีม อย. น้อย 4.ตรวจสอบการ ตรวจรับและการเก็บรักษาโดยโรงเรียนหรือหน่วยงานต้นสังกัด 5.ประสานงานและแก้ไขปัญหากรณีพบข้อบกพร่องในการดำเนินงาน โดยเด็กทุกคนจะต้องได้การดื่มนม 260 วัน และได้รับประทานอาหารกลางวันมื้อละ 20 บาท อาหารที่รับประทานต้องได้คุณภาพ ถูกสุขอนามัย อาหารครบ 5 หมู่ เด็กได้ประโยชน์ ส่งเสริมพัฒนาการทางร่างกายและสมอง”

ทางด้านนายอภิรักษ์ อิ่มจิตอนุสรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแพร่ เขต 1(ผอ.สพป.แพร่ เขต 1) กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เรื่องอาหารเสริมนมนี้ สพป.แพร่ เขต 1 ได้มีความห่วงใยนักเรียนและมีการย้ำให้โรงเรียนเมื่อได้รับนมมาแล้วให้ตรวจสอบความถูกต้องของวันหมดอายุนม ว่าเป็นไปตามสัญญาจ้างที่ทำไว้กับองค์กรปกครองท้องถิ่นหรือไม่ ในการตรวจรับให้เปิดลังเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง ไม่ชำรุดเสียหายทุกกล่องและให้เร่งดำเนินการการแจกจ่ายให้นักเรียนได้นำไปดื่มโดยเร็ว มิให้ตกค้างอยู่ที่โรงเรียน หากมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นไม่สามารถแจกนมให้กับนักเรียนได้ ต้องบริหารจัดการการเก็บรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม ตามแนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับนมโรงเรียน และมอบหมายให้ครูและบุคลากรทางการศึกษานำนมไปแจกถึงบ้านนักเรียน ในช่วงที่ออกเยี่ยมบ้านพบปะกับผู้ปกครอง ทั้งนี้ สพป.แพร่ เขต 1 ได้มีหนังสือแจ้งกำชับเพื่อซ้อมความเข้าใจไปยังสถานศึกษาในสังกัดทุกแห่งให้ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติในคู่มือนมโรงเรียนไปแล้ว

ร่วมแสดงความคิดเห็น