เงินกู้ดอกโหดคืนชีพ เร่งแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ หวั่นเพิ่มทุกข์ชาวบ้าน

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่าจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่แพร่กระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ประกอบกับปัญหาภาวะภัยแล้ง ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบ ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จึงได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) ที่ได้รับอนุญาต ดำเนินการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ
โดยมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจที่เข้าร่วมมาตรการ แต่ละรายจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับศักยภาพและความพร้อมของผู้ประกอบธุรกิจ เช่น การพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย การขยายระยะเวลาของสัญญาเงินกู้ การลดอัตราดอกเบี้ย การลดค่าผ่อนชำระรายงวด ไม่ติดตามทวงถามหนี้ หรือไม่คิดค่าปรับล่าช้าหรือค่าติดตามทวงถามหนี้แล้วแต่กรณี เป็นต้น

สำหรับสถานการณ์ธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 จนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2563 มีนิติบุคคลยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อทั้งประเภทพิโกไฟแนนซ์ และประเภทพิโกพลัส รวม 1,329 ราย ใน 76 จังหวัด ทั้งนี้ สินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์ สามารถรับสมุดทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ (เป็นประกันสินเชื่อ ได้วงเงินไม่เกิน 5 หมื่นบาท) มีผู้ยื่นคำขออนุญาต 1,037 ราย ใน 75 จังหวัด ส่วนประเภทพิโกพลัส วงเงินไม่เกิน 1 แสนบาท มีผู้ยื่นคำขออนุญาตสุทธิทั้งสิ้น 157 ราย ใน 54 จังหวัด มียอดสินเชื่ออนุมัติสะสม 248,423 บัญชี (ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563) วงเงิน 6,589.58 ล้านบาท หรืออนุมัติเฉลี่ย  26,525.68 บาทต่อบัญชี
ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากตัวแทนธุรกิจฟิโกไฟแนนซ์ ในเชียงใหม่ว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ธุรกิจสินเชื่อเพิ่มความระมัดระวังในการพิจารณาสินเชื่อใหม่ ๆ ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและการหารายได้ของประชาชน “น่าจะ เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้เงินกู้ด่วนดอกแพงหรือดอกโหด หวนคืนมาสู่ตลาด หลังจากเงียบไปหายพักใหญ่ เพราะมาตรการกวดขันปราบปรามอย่างจริงจัง ต่อเนื่องของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ และความมั่นคงที่บูรณาการแผนตามวาระเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งหลังจากหมดช่วงเยียวยา เงินช่วยเหลือผลกระทบโควิด-19 จะมีชาวบ้าน ร้านค้าตามกาดนัดกระโจนไปสู่วังวนเดิม ๆ อีกมากแน่นอน”

ในขณะที่ฝ่ายการตลาด เงินด่วน ทันใจ ในพื้นที่สันทราย จ.เชียงใหม่ รายหนึ่งกล่าวว่า มีลูกค้าติดต่อเข้ามาตลอด ตามที่แจกการ์ด หรือปิดป้ายตามสถานที่ต่าง ๆ ในชุมชน ก็จะเลือกพิจารณาและอนุมัติตามกำลังลูกค้า โดยมองถึงความจำเป็น รายได้ที่จะจ่ายรายวัน ถ้าแผงค้าขอ 2 หมื่นบาท ขั้นแรกก็อาจจะทดลองให้ 5 พันบาทไปก่อน พอจ่ายตรงเป็นระบบค่อย ๆ เพิ่มให้ พวกคนทำงานตามโรงงานจะขอบัตร เอทีเอ็ม.ก็แล้วแต่เงื่อนไขที่ตกลงกัน

“ฝ่ายสินเชื่อกับฝ่ายเร่งรัดจะแบ่งงานกัน ยอมรับว่าบางกลุ่มยังใช้พฤติการณ์เดิม ๆ ในการข่มขู่บีบรัดกดดันลูกค้า ซึ่งส่งผลต่อภาพพจน์ธุรกิจนี้มาก อย่าลืมว่า กลุ่มที่มีหน้าร้าน มีระบบบริการลูกค้าไม่ต่างจากลีสซิ่ง, ไฟแนนซ์ก็มีเยอะ แต่มาเจอพวกที่ใช้เทคนิค วิธีการเดิม ๆ วงการก็กระทบไปหมด”

ด้านพ่อค้า แม่ค้าที่เป็นลูกหนี้บริการเงินด่วน เปิดใจว่า รู้แต่แรกแล้วว่า ดอกแพง มีค่าดำเนินการ แต่ทำอยางไรได้ ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใครก็ต้องคว้าไว้ก่อน จะติดต่อเข้าโครงการ ช่วยคนจนตามที่ประกาศกันก็มีหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ไม่ใช่ติดต่อวันนี้แล้วได้เลย ต้องพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ สัมภาษณ์ ตรวจร้าน ขั้นตอนยุ่งยาก ไม่ทันความเดือดร้อนที่ต้องการใช้จ่าย “บางคนไม่มีทางเลือกมาก เพื่อความอยู่รอดของครอบครัว มีความจำเป็นต้องกู้ด่วน เงื่อนไม่มาก อาจจะดอกแพง มาเก็บหน้าร้านทุกวัน ชีวิตเป็นแบบนี้ มีทางที่ทำให้เดินต่อได้ ไปใช้จ่ายเป็นทุนค้าขายเตรียมให้ลูกตอนเปิดเทอม เราเลือกเองแบบนี้ก็ต้องยอมรับ”

อย่างไรก็ตามโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ระบุว่ากระทรวงการคลังได้ดำเนินโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ในระบบทดแทนหนี้นอกระบบ  ผ่านสถาบันการเงินหลัก ๆ คือ ออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อนุมัติสินเชื่อรายย่อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 ที่มีหนี้นอกระบบ จำนวนรวมทั้งสิ้น 624,384 ราย คิดเป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 27,366.17 ล้านบาท ครอบคลุมประชาชนรายย่อยในทุกภูมิภาค เฉพาะภาคเหนือ ร้อยละ 19.80
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังดำเนินการ ร่วมกับ หน่วยงานภาคีแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย, เพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อในระบบลดภาระหนี้นอกระบบ โดยการไกล่เกลี่ย เพิ่มศักยภาพลูกหนี้นอกระบบ และสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบโดยองค์กรการเงินชุมชน
ทีมข่าวได้รับการเปิดเผยจากนายหน้า ตัวแทน กลุ่มบริการเงินด่วน ในภาคเหนือพบว่า ขณะนี้ มีการจัดแบ่ง ทีมฝ่ายการตลาดเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ตามแผงค้า ในกาดนัด ตลาดสดมากขึ้น รวมถึงช่องทางสื่อสังคมหลาย ๆ เพจ
ทั้งนี้ประชาชนสามารถร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแส เกี่ยวกับเงินกู้นอกระบบที่ผิดกฎหมายได้โดยตรง ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1599 ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์การกู้ยืมเงิน โดยสัญญาที่ไม่เป็นธรรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1155 ศูนย์ดำรงธรรม สายด่วน 1567 ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สายด่วน 1359

ร่วมแสดงความคิดเห็น